แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

“ไมเกรน” อีกหนึ่งโรคฮิตของคนวัยทำงาน – โรงพยาบาลราชวิถี

“ไมเกรน” อีกหนึ่งโรคฮิตของคนวัยทำงาน

  • -

“ไมเกรน” อีกหนึ่งโรคฮิตของคนวัยทำงาน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ไมเกรน

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบัน ทำให้หนุ่มสาววัยทำงานต้องเผชิญกับความเครียดต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ก่อให้เกิดความเครียดสะสม ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รวมไปถึงบั่นทอนสุขภาพกายและใจ และทำให้คนป่วยเป็นโรคต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในโรคฮิตของคนวัยทำงานเลยก็คือ “โรคไมเกรน” 

จากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ พบว่า “โรคไมเกรน” เป็นโรคที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ เมื่อประมาณ 1,200 ปี ก่อนคริสต์ศักราชมาแล้ว ซึ่งในสมัยนั้น ชาวอียิปต์เชื่อว่าอาการปวดหัวนี้เป็นความทรมานอย่างมาก ราวกับว่ามีปิศาจมาสาปให้เขาปวดหัวอยู่ตลอดเวลา จึงอาจกล่าวได้ว่าโรคนี้เป็นโรคที่สร้างความทุกข์กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก “โรคไมเกรน” หรือที่หลายๆ คนมักเรียกว่า “โรคปวดหัวข้างเดียว” เกิดจากการที่เยื่อหุ้มสมองของคนไข้ได้รับการกระตุ้นบางอย่างส่งมาที่สมอง โดยมีสารในสมองที่ชื่อว่า “เซโรโทนิน (Serotonin)” ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยับตัว และโป่งพองออก ส่งผลให้เวลาคนไข้ไมเกรนปวดหัว ก็จะปวดตุ้บๆ ตุ้บๆ ตามจังหวะการเต้นของชีพจร

ความชุกของโรคไมเกรนนี้ พบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า และมักพบคนไข้ไมเกรนในเพศหญิงที่อายุน้อย

อาการ

คนไข้จะมีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดตุบๆ เป็นชั่วโมงๆ โดยปวดติดกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าไม่ได้กินยาแก้ปวด ส่วนมากจะเป็นอาการปวดรุนแรง บางคนอาจมีการเห็นแสงสีรุ้งหยึกๆ หยักๆ บางคนก็เห็นภาพหายไปเป็นหย่อมๆ นอกจากนี้ หากมีสิ่งกระตุ้น หรือมากระทบกระเทือนก็จะทำให้ปวดหัวมากยิ่งขึ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น อาหารบางชนิด และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

อาการปวดหัวไมเกรนจะต่างจากปวดหัวแบบอื่น กล่าวคือ เวลาหายปวด คนไข้ก็จะหายเป็นปกติ ไม่เหลือร่องรอยอาการปวดอีกเลย แต่พอเวลาปวดใหม่ ก็จะปวดรุนแรงอีก พอหายก็กลับไปเป็นปกติเหมือนเดิม แต่จะไม่ใช่การปวดในลักษณะที่ว่าวันนี้ปวดน้อย พรุ่งนี้ปวดมากขึ้น สัปดาห์หน้าปวดมากขึ้นอีก

การรักษา แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา นั่นคือ คนไข้จะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น แสง สี เสียง กลิ่น อากาศที่เปลี่ยนแปลง และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ทำให้เรามีความสุข เช่น ออกกำลังกาย เล่นโยคะ สปา เป็นต้น หรือจะฝังเข็มก็ช่วยได้ทางหนึ่ง

นอกจากนี้ “อาหาร” ก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารที่มีผงชูรส อาหารมันจัด และอาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น นม ชีส พิซซ่า โยเกิร์ต เนื้อเค็ม ไส้กรอก เบคอน แฮมเบอร์เกอร์ อาหารฟาสต์ฟู้ดทุกชนิด งดอาหารรสเปรี้ยว อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขนมกรุบกรอบต่างๆ

2. การรักษาโดยใช้ยา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 2.1 ยาบรรเทาอาการปวด ยาประเภทนี้จะกินต่อเมื่อมีอาการปวด มีตั้งแต่ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาแก้อักเสบ (NSAIDs) ใช้บรรเทาอาการปวดทั่วๆ ไป ยากลุ่มเออร์กอต (Ergots) เป็นยาแก้อาการปวดตุ้บ ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือในปริมาณสูง อาจทำให้หลอดเลือดของร่างกายส่วนอื่นๆ มีการหดตัว และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต จึงต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ซึ่งปัจจุบันยาบรรเทาอาการปวดไมเกรนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพคือ ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งการจะเลือกใช้ยาชนิดใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย  2.2 ยาป้องกันไมเกรน เหมาะสำหรับใช้ในคนไข้ที่ปวดหัวบ่อยมาก เช่น ปวดหัวบ่อยมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป หรือต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยมากกว่า 10-15 เม็ดต่อเดือน ส่วนการกินยาจะต่างกับยาแก้ปวดตรงที่ต้องกินยาต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวด หรือลดความถี่ความรุนแรงของการปวดลง ทั้งนี้ ยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิดจะต้องเลือกชนิดและปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับอาการของคนไข้แต่ละราย

การป้องกัน

คนที่เป็นโรคไมเกรน ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หมั่นออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า หรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มในกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดหัวกำเริบ

ส่วนบุคคลทั่วไปก็ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหาวิธีคลายเครียดอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี หากพบว่าตนเองมีอาการปวดหัวข้างเดียวบ่อยๆ ก็ใช่ว่าคุณจะเป็น “โรคไมเกรน” เสมอไป ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ โดย นพ.ธีรพจน์ ธรรมพาเลิศ.

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility