แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

สธ. เตือนเลี่ยงเมนูอาหารทะเลที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ – โรงพยาบาลราชวิถี

สธ. เตือนเลี่ยงเมนูอาหารทะเลที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ

  • -

สธ. เตือนเลี่ยงเมนูอาหารทะเลที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหารทะเลที่ปรุงสุกๆดิบๆ เสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง แนะผู้ประกอบการร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามแนวทางอาหารปลอดภัย 10 ประการเคร่งครัด

นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศเขตร้อน จากการกินอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษที่เชื้อโรคสร้างขึ้น อาหารทะเลเช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย ที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งพบว่าทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงมากที่สุด จากการเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษเฉลี่ยเดือนละ 10,000 ราย ข้อมูลในปี 2560 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 สิงหาคม พบผู้ป่วยจำนวน 72,671 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับ คือ ลำพูน ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มหาสารคาม และขอนแก่น

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดในแหล่งท่องเที่ยว ดูแลมาตรฐานร้านอาหาร ให้ปฏิบัติตามแนวทางอาหารปลอดภัย เพื่อสุขอนามัยของผู้บริโภค และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด โดยเฉพาะอาหารทะเลควรเลือกที่สดและปรุงสุก ไม่ควรรับประทานแบบสุก ๆ ดิบ ๆ โดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ หากมีอาการเป็นพิษ มีอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ ให้ดูแลเบื้องต้นโดยการดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที

ในการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ยึดหลัก 10 ประการในการเตรียมอาหารที่ปลอดภัย ได้แก่ 1.เลือกอาหารที่ผ่านการเตรียมเป็นอย่างดี ผัก ผลไม้ให้ล้างด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง 2.ปรุงอาหารให้สุก 3.ควรรับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ ภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังปรุงเสร็จ 4.ระมัดระวังอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่าให้มีการปนเปื้อน 5.อาหารที่ค้างมื้อให้เก็บในตู้เย็นและอุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน 6.แยกอาหารดิบและอาหารสุก ให้ระมัดระวังการปนเปื้อน ไม่ใช้มีด เขียงหั่นร่วมกัน 7.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร หลังขับถ่ายและหลังสัมผัสสิ่งสกปรก 8.ให้พิถีพิถันความสะอาดของห้องครัว 9.เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ และ10.ใช้น้ำสะอาด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับเหตุการณ์อาหารเป็นพิษในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 50 คน ในอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เมื่อคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2560 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรีได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากโรงพยาบาลสองพี่น้อง และโรงพยาบาลท่าใหม่ ลงพื้นที่สอบสวนและควบคุมโรคทันที  คาดว่าสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารเย็นที่ซื้อมาจากร้านอาหารนอกที่พัก ผู้ป่วยไม่คุ้นกับการรับประทานทะเล เกิดอาการท้องเสียไม่รุนแรงรวม 24 คน ในจำนวนนี้รับไว้ในโรงพยาบาลท่าใหม่ 5 คน เพื่อรักษาอาการเสียน้ำและเกลือแร่ พร้อมเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย และตัวอย่างอาหารส่งตรวจห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี และให้คำแนะนำการดูแลตนเองแก่นักท่องเที่ยว และส่งเจ้าหน้าที่งานอาหารปลอดภัย ตรวจสอบกระบวนปรุงอาหารของผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นแหล่งโรคครั้งนี้

ที่มา:  สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility