แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

“ไอกรน”ตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อก่อโรคได้ – โรงพยาบาลราชวิถี

“ไอกรน”ตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อก่อโรคได้

  • -

“ไอกรน”ตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อก่อโรคได้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ไอ

โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ตัสซิส (Bordetella pertussis) โรคไอกรนก่อให้เกิดการไออย่างรุนแรง ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมากหรือหยุดหายใจได้ โดยมีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ปอดอักเสบ อาจมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท อาจมีอาการชักเกร็ง สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 24 ก.ค. 60 พบผู้ป่วย 42 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงสุด 0.11 ต่อแสนประชากร ซึ่งพบมากในกลุ่มอายุ 1-3 เดือน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจยืนยันการติดเชื้อบอร์เดเทลลา เพอร์ตัสซิส ใช้วิธีการเพาะเชื้อ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้เวลาตรวจ ประมาณ 3-7 วัน มีความไวต่ำ วิธีการยุ่งยาก และต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อเฉพาะ โดยมีข้อจำกัดเรื่องตัวอย่างต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการทันที ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ของโรคไอกรน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา จึงได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรและห้องปฏิบัติการ และเปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคไอกรน ด้วยเทคนิค Multiplex real-time PCR ซึ่งเป็นวิธีที่มีความไว มีความแม่นยำสูง และสามารถตรวจได้ภายใน 1 วัน โดยตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไอกรน 2 ชนิด คือ บอร์เดเทลลา เพอร์ตัสซิส ทำให้เกิดโรคไอกรน (whooping cough) และ บอร์เดเทลลา พาราเพอร์ตัสซิส (B. parapertussis) ทำให้เกิดโรคไอกรนอย่างอ่อนๆ โดยใช้ตัวอย่างจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค ที่เก็บใส่หลอดปราศจากเชื้อ ส่งห้องปฏิบัติการในสภาวะแช่เย็น

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมใน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือน ส.ค. 2559 – ก.ค.2560 รวมทั้งสิ้น 71 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างจากผู้ป่วย 21 ราย พบเชื้อ บอร์เดเทลลา เพอร์ตัสซิส 7 ราย หรือร้อยละ 33.3 และผู้สัมผัส 50 ราย พบเชื้อ บอร์เดเทลลา เพอร์ตัสซิส 2 ราย หรือร้อยละ 4.0 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ จากการนำเทคนิคมัลติเพล็กซ์ เรียล ไทม์ พีซีอาร์ ( Multiplex real-time PCR) มาใช้ตรวจยืนยันการติดเชื้อไอกรน ทำให้ห้องปฏิบัติการสามารถรายงานผลได้ภายใน 1 วัน เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีเพาะเชื้อที่ใช้เวลา 3-7 วัน

 “การตรวจเชื้อได้เร็วส่งผลดีต่อผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค สามารถได้รับยารักษาอย่างสมเหตุสมผล ช่วยป้องกันเชื้อดื้อยา ลดความรุนแรงของโรคและการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ทั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับบริบทพื้นที่ และสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการเป็นหน่วยงานแรกและแห่งเดียวในภาคใต้”นพ.สุขุมกล่าว

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility