แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

เตือน “มือ เท้า ปาก” จ่อระบาดเพิ่มขึ้น – โรงพยาบาลราชวิถี

เตือน “มือ เท้า ปาก” จ่อระบาดเพิ่มขึ้น

  • -

เตือน “มือ เท้า ปาก” จ่อระบาดเพิ่มขึ้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มือ เท้า ปาก

        กรมควบคุมโรคเตือน “โรคมือ เท้า ปาก” โอกาสระบาดเพิ่มขึ้น เหตุเป็นช่วงเปิดเทอม คาด ก.ค.แนวโน้มป่วยสูงสุด ระบุครึ่งปี 60 ป่วยแล้ว 2.4 หมื่นราย เสียชีวิต 1 ราย ย้ำครู ผู้ปกครอง เฝ้าระวังอาการเด็กใกล้ชิด

          จากกรณีเด็กอายุ 2 ขวบ ชั้นเตรียมอนุบาลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านกิโลสอง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ป่วยและเสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก จนมีการปิดศูนย์ฯ ชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด โดยสำนักงานสาธารรสุขจังหวัดสระแก้ว มีการเฝ้าระวังคัดกรองเด็กชาวกัมพูชาที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ (วันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2560) นั้น จากการเฝ้าระวังของกรมฯ สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยประมาณ 40,000-76,000 รายต่อปี เสียชีวิต 2-3 รายต่อปี ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 มิ.ย. 2560 มีผู้ป่วยแล้ว 24,005 ราย เสียชีวิต 1 ราย ช่วงอายุที่พบมากที่สุด คืออายุแรกเกิด – 4 ปี คิดเป็นร้อยละ 86.49 ส่วนพื้นที่ที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ จังหวัดในภาคกลางตอนบน และภาคใต้ตอนบน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับข้อมูล 5 ปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน พบรายงานเหตุการณ์โรคมือ เท้า ปากในศูนย์เด็กเล็กหลายแห่ง และมีรายงานผู้ป่วยสงสัยโรคมือ เท้า ปาก เสียชีวิต 2 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

          นพ.เจษฎา กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์นี้ คาดว่า จะพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังคงเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของนักเรียน ซึ่งมักพบการระบาดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม โดยจะเริ่มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนและพบสูงสุดในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการอยู่รวมกัน อาจใช้ภาชนะหรือสิ่งของร่วมกัน ทั้งนี้ ควรมีมาตรการการดูแลและป้องกันโรค เช่น การคัดกรองเด็กทุกวัน ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร แนะนำให้นักเรียนล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

          “กรมควบคุมโรค ขอให้ผู้ปกครอง ครู และผู้ดูแลเด็ก หมั่นสังเกตอาการของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ ในบางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน” นพ.เจษฎา กล่าว

ที่มา : MGR Online

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility