แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

โรคผิวหนังกับความเครียด – โรงพยาบาลราชวิถี

โรคผิวหนังกับความเครียด

  • -

โรคผิวหนังกับความเครียด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โรคผิวหนัง

หลายปีที่ผ่านมานี้ ภาวะรอบด้านทำให้คนไทยเครียดกันมาก ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ทำให้ลืมง่าย ไม่มีสมาธิในการทำงาน หงุดหงิด โมโหง่าย ติดยาเสพติด ปวดท้อง ปวดหัว ปวดหลัง นอนไม่หลับ ความเครียดยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะอาหาร หืด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และโรคจิตโรคประสาท นอกจากนั้นความเครียดหรือโรคทางใจยังมีผลต่อผิวหนังอีกด้วย

โรคผิวหนังและโรคทางใจเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

สามารถแบ่งลักษณะความเกี่ยวข้องกันได้เป็น 3 กลุ่ม

1.กลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้ว แต่โรคทางใจทำให้โรคผิวหนังกำเริบ

เช่น สิว ผมร่วงเป็นหย่อม โรคผิวหนังภูมิแพ้ เริม เหงื่อออกมาก คัน สะเก็ดเงิน โรคผิวเปลือกไม้ (lichen simplex chronicus) ลมพิษ และหูด

2.กลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วย

พบว่าโรคผิวหนังที่ลักษณะภายนอกไม่น่าดู หรือน่ารังเกียจ เช่น สิวที่รุนแรง สะเก็ดเงิน ด่างขาว และเริม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย เสียความมั่นใจในตนเอง และเกิดความเครียด

3.กลุ่มโรคทางใจที่มีอาการทางผิวหนัง

พบว่าความผิดปกติทางผิวหนังบางอย่างเป็นอาการของโรคทางใจโดยตรง เช่น โรคชอบดึงผมเล่นจนร่วง โรคหลงผิดว่ามีพยาธิหรือแมลงไต่ตามผิวหนัง และโรคไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตนเอง

ความเครียดส่งผลเสียต่อผิวอย่างไร

เมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียด คือ คอร์ติซอล (cortisol) ทำให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น เกิดอาการผิวมัน สิว และโรคผิวหนังอื่น ๆ

ความเครียดยังทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลง จึงทำให้ผิวหนังติดเชื้อง่าย เกิดโรคเริมกำเริบ งูสวัด แผลหายช้า และมะเร็งผิวหนังสูงขึ้น

บางคนเวลาเครียดจะกัดเล็บ ความเครียดยังทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งตัว เกิดเป็นรอยย่นลึกที่ใบหน้า เช่น ที่หน้าผาก และหัวคิ้ว

โรคจิตหลงผิดของผิวหนัง

กลุ่มอาการหลงผิดมีลักษณะคือ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตปกติกับคนอื่น ๆ ได้โดยแยกไม่ออก สามารถพูดจารู้เรื่อง ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้คิดว่าตัวเองเจ็บป่วย ส่วนใหญ่จึงไม่เข้ารับการรักษา ในทางด้านโรคผิวหนังก็พบโรคจิตหลงผิดของผิวหนังได้เช่นกัน

โรคจิตหลงผิดของผิวหนัง ได้แก่

โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะเล่าว่ารู้สึกว่ามีพยาธิหรือแมลงไต่ เจาะเป็นอุโมงค์ หรือกัดผิวหนัง

โรคฝังใจว่ามีเส้นใยผุดออกมาจากผิวหนัง ผู้ป่วยโรคนี้เชื่อฝังใจว่ามีเส้นใย หรือวัสดุอื่น ๆ ฝังหรือผุดออกมาจากผิวหนัง

โรคฉันไม่สวย และโรคจิตหลงผิดว่ามีกลิ่นตัว ผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่ามีกลิ่นตัว กลิ่นปาก หรือกลิ่นจากช่องคลอด ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ผู้ป่วยจะอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยกว่าปกติ

โรคฉันไม่สวย

ผู้ป่วยโรคนี้จะคิดว่าตนเองมีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีอวัยวะไม่ได้สัดส่วน บางคนกังวลเรื่องผมบาง ขนดก รูขุมขนโต เรียกชื่อโรคนี้ว่า body dysmorphic disorder (BDD) หรือบีดีดี

ผู้ป่วยชอบเปรียบเทียบอวัยวะที่ตนเองคิดว่าผิดปกติกับคนอื่น ชอบแต่งหน้าทำผมครั้งละนาน ๆ ชอบครุ่นคิดถึงรูปร่างหน้าตาตัวเอง พบอาการซึมเศร้ารุนแรงร่วมด้วยได้บ่อย

ถ้าโรคนี้เกิดในผู้ใหญ่อาจแสดงอาการในรูปของความกลัวแก่อย่างรุนแรง

โรคบีดีดีมักเริ่มเป็นเมื่ออายุน้อยคือ 16-17 ปี และเป็นเรื้อรัง

โรคกลัวแก่ขึ้นสมอง

โรคกลัวแก่ขึ้นสมอง หรือกลุ่มอาการดอเรียนเกรย์ (Dorian Gray syndrome) ตั้งชื่อตามนวนิยายชื่อ The Picture of Dorian Gray ที่มีตัวละครเอกชื่อ ดอเรียนเกรย์ ที่กลัวความแก่มากจนต้องขอให้ภาพวาดแก่แทน

ผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้จะมีลักษณะของบีดีดี ร่วมกับการมีพัฒนาการทางจิตใจที่ผิดปกติ

ผู้ป่วยยังมีประวัติใช้ยา หรือเทคนิคที่ปรับปรุงคุณภาพในการดำเนินชีวิตอย่างน้อย 2 ชนิด ได้แก่ ยาปลูกผม ยาลดไขมัน ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศยาต้านอาการซึมเศร้า มารักษาผิวหนัง เพื่อเสริมความงาม (เช่น ทำเลเซอร์ผลัดผิว) และทำศัลยกรรมตกแต่ง (เช่น ผ่าตัดดึงหน้า ดูดไขมัน)

สัก เจาะ ตัด ติด… ป่วยทางใจหรือไม่

ปัจจุบันมีกระแสที่จะตกแต่งร่างกายด้วยวิธีแปลก ๆ นอกเหนือไปจากการสัก การเจาะ การฝังหมุด การใส่ห่วง การผ่าลิ้นเป็น 2 แฉก การกรีดผิวให้เป็นแผลเป็น การตัดแต่งใบหูให้แหลมเหมือนหูสุนัข ฝังเพชรในลูกตา ตะไบฟันเสริมเขี้ยว และฉีดน้ำเกลือให้หน้าบวม

พบว่าผู้ที่ตกแต่งร่างกายแบบแปลก ๆ อาจมีความผิดปกติ ทางจิตใจที่เรียกว่าบีดีดีร่วมด้วย

คงมองภาพรวมออกว่า โรคทางใจและโรคผิวหนังเกี่ยวข้องกันอย่างไร และผิวหนังก็ไม่ได้เป็นแค่เปลือกที่ห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น แต่ก็เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ที่มีความสัมพันธ์กับระบบอื่นของร่างกายและจิตใจ จึงควรเข้าใจว่า ทำไมบางครั้งเป็นโรคผิวหนังแล้ว แพทย์ผิวหนังขอให้ไปพบจิตแพทย์ร่วมด้วย หรือบางครั้งเป็นโรคผิวหนังแล้ว แพทย์ผิวหนังขอให้ไปพบอายุรแพทย์ เพื่อตรวจตับ ตรวจไต ตรวจระบบเลือด ฯลฯ

ทั้งนี้ เพราะความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอวัยวะอื่น ๆ จิตใจ และผิวหนัง มีความสัมพันธ์ และส่งผลถึงกันและกันได้ทั้งหมด

ที่มา : นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 32, ฉบับที่ 375

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility