แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

หกล้มในผู้สูงอายุ สำคัญไฉน – โรงพยาบาลราชวิถี

หกล้มในผู้สูงอายุ สำคัญไฉน

  • -

หกล้มในผู้สูงอายุ สำคัญไฉน

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

บทความโดย ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย

ทำไมผู้สูงอายุจึงต้องระมัดระวังการหกล้มอย่างมาก

ผู้สูงอายุยิ่งมีอายุมากย่อมมีโอกาสหกล้มได้มากขึ้น เนื่องจากมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่เสื่อมถอยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้เมื่อเผชิญกับอุบัติเหตุหรือเมื่อเกิดการเจ็บป่วยแม้เพียงเล็กน้อย แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีการบาดเจ็บเล็กน้อยหลังหกล้ม แต่มีผลเสียร้ายแรงที่เกี่ยวข้องได้แก่ เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งถึงสาเหตุการเจ็บป่วยที่ซ่อนเร้นอยู่ และอาจเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงได้ เช่นกระดูกหัก ภาวะเลือดคั่งในสมอง สุดท้ายเป็นภาระต่อญาติผู้ดูแลและสังคม ทำให้สูญเสียทั้งด้านการเงิน สุขภาพ และเวลาทั้งของผู้สูงอายุเองและญาติที่ต้องมาดูแลด้วย

อาการหกล้มเป็นสัญญาณอันตรายของโรคอะไรได้บ้าง

ถ้าไม่นับผู้สูงอายุที่หกล้มเนื่องจากอุบัติเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่นพื้นลื่น หรือเดินสะดุดพื้นที่ไม่เรียบเสมอกันแล้ว ผู้ที่หกล้มเองโดยไม่มีเหตุอันควร เช่น หกล้มขณะเดินปกติภายในบ้าน มักต้องมีโรคร้ายแรงที่อาจซ่อนเร้นอยู่ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งหรือนอนมาเป็นยืน ทำให้เลือดไม่สามารถถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมองได้ทันเวลาและเพียงพอ อาจมีอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะขณะนั้นร่วมด้วย

กลุ่มโรคในระบบไหลเวียนเลือดเช่น อาการหมดสติไปชั่วครู่ขณะกำลังเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะ หรือการไอที่รุนแรง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เป็นต้น กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม โรคปลายประสาทเสื่อม โรคลมชัก โรคต่างๆ ที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ อวัยวะการทรงตัวที่อยู่ติดกับหูชั้นในทำงานผิดปกติ ที่บางคนเรียก “น้ำในหูไม่เท่ากัน”

สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ โรคข้อเสื่อม ภาวะซึมเศร้า สายตาผิดปกติจากโรคทางตาเช่น ต้อกระจก ผลข้างเคียงจากยาโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่นโรคติดเชื้อต่างๆ

ผู้สูงอายุจะป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้หกล้ม

องค์การอนามัยโลกได้แนะนำสามมาตรการหลักในการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ ดังนี้ การเพิ่มความตระหนักถึงภยันตรายที่เกิดจากการหกล้มให้กับผู้สูงอายุทุกคน การประเมินสุขภาพผู้สูงอายุเป็นระยะสม่ำเสมอ เช่นการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองสาเหตุต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การหกล้ม ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แล้วให้การแก้ไขทันที การมีมาตรการป้องกันการหกล้มที่มีประสิทธิผล ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ การได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมการทรงตัว เช่น การรำไม้พลอง การรำมวยจีน การรำท่ามโนราห์ การฝึกโยคะ

ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหกล้ม ต้องพยายามใช้อุปกรณ์ที่ช่วยการเดิน เช่น คอกอะลูมิเนียมที่มี 4 ขา ไม้เท้าตลอดจนการปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น ลุกขึ้นยืนช้าๆ เสมอ มองหาวัตถุรอบตัวที่สามารถจับยึดได้กรณีฉุกเฉิน การไม่เดินเข้าไปบริเวณที่เปียกน้ำ การไม่ใช้รองเท้ายางที่หมดอายุการใช้งาน ทำให้พื้นรองเท้าลื่นไม่เกาะพื้น ส่วนมาตรการการปรับสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ประจำ เช่น ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อยๆ โดยปุ่มสวิทช์อยู่ใกล้มือเอื้อมมีอุปกรณ์เครื่องเรือนบริเวณที่อยู่เท่าที่จำเป็น และต้องแข็งแรงมั่นคงอยู่สูงจากพื้นมองเห็นได้ง่าย ไม่ย้ายที่บ่อยๆ

เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วมมีความสูงพอเหมาะ ไม่เตี้ยเกินไปทางเดินและบันได ควรมีราวจับตลอดทางเดินขั้นบันไดต้องมีความกว้างยาวพอและสม่ำเสมอไม่สูงชันเกินไปพื้นห้องสม่ำเสมอ ใช้วัสดุที่ไม่ลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำ ห้องครัว บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างห้องควรอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่มีธรณีประตู ไม่ควรมีสิ่งของเกะกะ เช่น พรมเช็ดเท้า สายไฟฟ้า หลีกเลี่ยงการมีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมวในบริเวณที่อยู่อาศัย

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility