แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

แนะป้องกันอาหารเป็นพิษ ช่วงสงกรานต์ – โรงพยาบาลราชวิถี

แนะป้องกันอาหารเป็นพิษ ช่วงสงกรานต์

  • -

แนะป้องกันอาหารเป็นพิษ ช่วงสงกรานต์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อาหารเป็นพิษ

“กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” เตือนในช่วงฤดูร้อนอาหารจะบูดเสียได้ง่าย ประชาชนจึงอาจป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้ โดยเฉพาะ 10 เมนู ที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากรับประทานในช่วงฤดูร้อน รวมถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังมาถึงนี้ แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการปรุงสุกๆดิบๆ และหากพบว่าอาหารมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาหารจึงบูดเสียได้ง่าย ประกอบกับใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนมักจะซื้ออาหารหรือน้ำดื่มจากนอกบ้านมารับประทานร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล ซึ่งอาจมีเมนูอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารหรือทำให้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 มีนาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 28,138 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี (14.11%) 25-34 ปี (11.27%) และ 45-54 ปี (11.09%) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ร้อยเอ็ด ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ) สารพิษหรือสารเคมี มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารไม่สะอาด และในอาหารที่ปรุงไว้นานแล้วไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง/ยำทะเล 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน เมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน

สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ควรเลือกร้านที่แน่ใจว่าสะอาดหรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย เลือกรับประทานน้ำดื่ม หรือน้ำแข็งที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก อย. ที่สำคัญ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน จะช่วยป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้

ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า อาจมีไข้ เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้สารละลายเกลือแร่โออาร์เอส หรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการต่างๆ ข้างต้นไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility