แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

พิษ (ภัย) สัตว์ร้ายในหน้าร้อน – โรงพยาบาลราชวิถี

พิษ (ภัย) สัตว์ร้ายในหน้าร้อน

  • -

พิษ (ภัย) สัตว์ร้ายในหน้าร้อน

ในช่วงฤดูร้อนในประเทศไทยปีนี้  หลายพื้นที่ช่วงกลางวันอากาศร้อนมหาโหด พอตกเย็นอากาศก็ครึ้มฟ้าครึ้มฝน บางวันสายฝนก็เทกระหน่ำลงมาอย่างชุ่มช่ำ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลจากร้อนเป็นร้อนชื้นในแต่ละวัน ทำให้สัตว์ต่าง ๆ พลอยได้รับผลกระทบจากความร้อนนี้ไปด้วย อันตรายที่เกิดจากสัตว์ในหน้าร้อนจึงสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งกรณีสัตว์ในบ้าน  สัตว์นอกบ้าน สัตว์ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เราไปดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง

พิษ (ภัย) สัตว์ร้ายในหน้าร้อน thaihealth

แฟ้มภาพ

สัตว์ในบ้าน

สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น กระรอก กระต่าย หนูแฮมเตอร์

โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกลัวน้ำ หรือ โรคพิษสุนัขบ้า (พบได้ในฤดูกาลอื่น ๆ ด้วย) แต่ที่นิยมกล่าวถึงในช่วงฤดูร้อนเพราะมักจะพบผู้ป่วยในฤดูร้อนมากกว่าฤดูอื่น ๆ สาเหตุเป็นเพราะปัญหาการคลุกคลีกับสัตว์มากในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น เด็กๆ ปิดเทอมอยู่บ้าน

โรคพิษสุนัขบ้า

เป็นเชื้อไวรัส ที่ติดต่อทางน้ำลาย น้ำเลือด น้ำเหลือง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโดนสุนัขกัด (นอกจากนี้ยังรวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ อาทิ แมว และสัตว์ป่า) และมีการสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค

สัญญาณอันตรายเมื่อได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า

จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คันบริเวณรอยกัด คัน ขี้หงุดหงิด อารมณ์ร้าย น้ำลายไหล และเสียชีวิตในที่สุด เพราะกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาต

ผู้ป่วยจะมีการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ เนื่องจากเชื้อไวรัสจะมีผลต่อระบบประสาทและสมอง จะกลืนอาหาร/น้ำลายก็ลำบาก เพราะมีน้ำลายฟูมปากเนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต กล้ามเนื้อคอกระตุก เกร็ง บางรายแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการประมาณ 7-15 วัน และมีโอกาสสูงที่จะหยุดหายใจ และเสียชีวิตทุกราย

การป้องกัน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในผู้ถูกกัด จะต้องรับการฉีดรวม 5 เข็ม และไม่ต้องฉีดทุกวัน ส่วนสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หากถูกกัดก็สามารถฉีดได้

การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามี 2 วิธี คือ

1. วัคซีนชนิดธรรมดา

แพทย์จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในวันแรกที่โดนกัด – วันที่ 3 – วันที่  7 – วันที่ 14 และ วันที่ 30 ที่โดนกัดรวม 5 เข็ม  ในกรณีสัตว์ตายก่อนเวลาที่กำหนดมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยการตรวจสมองของสัตว์ที่ตายเพื่อหาเชื้อไวรัสดังกล่าวเพื่อยืนยันการเป็นโรค ดังนั้นการป้องกันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ การระมัดระวังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ไม่คุ้นเคย หรือมีอาการผิดปกติ เช่น มีน้ำลายมาก หวาดกลัว ซ่อนตัว เดินเซ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และซากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

2. วัคซีนอิมมูโนโกลบุลิน  มี 2 ชนิด คือ

– อิมมูโนโกลบุลินที่ผลิตจากซีรั่มม้า ( ERIG ) ต้องทดสอบการแพ้ยาก่อนให้เสมอ

– อิมมูโนโกลบุลินที่ผลิตจากซีรั่มคน ( HRIG ) ไม่ต้องทดสอบการแพ้ยา

แต่วัคซีนอิมมูโนโกลบุลิน  จะใช้ต่อเมื่อสงสัยว่าสัตว์เป็นโรคจริง รวมถึงผู้ถูกกัดมีแผลบริเวณใบหน้า คอ มือและนิ้วมือ หรือเป็นแผลลึก แผลฉีกขาดมาก หรือถูกกัดหลายแผล (ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีนชนิดธรรมดาเข็มแรกไปแล้วเกิน 7 วัน จะเริ่มมีภูมิคุ้มกันแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้อิมมูโนโกลบุลิน)

* แต่การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ควรพาสัตว์เลี้ยงของคุณไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

สิ่งที่ควรทำเมื่อโดนกัด

– ให้มองในแง่ร้ายไว้ก่อนว่าสัตว์มีเชื้อพิษสุนัขบ้า แล้วรีบทำความสะอาดแผล ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หลังจากนั้นทาด้วยยาล้างแผลแอลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ไอโอดีน ห้ามใช้มีดกรีดปากแผลหรือปากดูดเลือดบริเวณบาดแผล เพราะ อาจมีการติดเชื้อที่ปนเปื้อนในเลือดและสัมผัสกับแผลในบริเวณปาก

– ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเร็วที่สุดในกรณีไม่ทราบประวัติสุนัขที่กัด

สิ่งที่ควรทำเมื่อมีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในบ้าน

– ให้สัตว์ได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าทุกปีอย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ตามบ้านอยู่แล้ว

สัตว์นอกบ้าน

แมลงวัน

เป็นแมลงก่อโรคที่พบมากในฤดูร้อน เพราะจะฟักไข่ในช่วงฤดูดังกล่าว และเป็นแมลงนำโรคติดต่อที่สำคัญในช่วงฤดูร้อน เช่น อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ อุจจาระร่วงต่างๆ ซึ่งเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ รวมทั้งอาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาการส่วนใหญ่มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน

ในการดูแลเบื้องต้นภายหลังมีอาการ

– ในระยะแรกควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าผงโออาร์ เอส โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองผสมน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว หากไม่มี ให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็นในปริมาณ 1 ขวดน้ำปลากลมแทน โดยต้องดื่มให้หมดภายใน 1 วัน นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารเหลว เช่น น้ำข้าว น้ำแกงจืด หรือข้าวต้ม ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์

งูและสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นพิษ

จะหลบในรูในฤดูร้อน และออกมาในฤดูฝน แต่สภาพอากาศในประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนร่วมด้วยทำให้มีการพบงู และโดนงูกัดมากขึ้น เนื่องจากงูออกจากรูมาหากินหลังฝนตก ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจรวมทั้ง แมงป่องและตะขาบด้วย

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำได้โดย

1.รีบทำความสะอาดบาดแผลด้วยสบู่ น้ำสะอาด และแอลกอฮอล์ล้างแผล

2..ในกรณีสงสัยงูกัด แนะนำให้ใช้เชือกหรือผ้าพันเหนือแผลให้พอแน่น เพื่อชะลอเวลาเดินทางของพิษงูเข้าสู่อวัยวะต่างๆ

3.รีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาตามชนิดของพิษต่างๆ ซึ่งในรายงูกัด อาจจำเป็นต้องได้รับเซรุ่มแก้พิษงู ไม่ควรรอจนกว่ามีอาการแล้ว

ฝูงนกที่อพยพลงมาทางใต้

เป็นสัตว์ที่คนมักจะมองข้ามอันตรายทั้ง ๆ ที่เป็นตัวการร้ายของโรคที่ติดมากับนกอพยพ เช่น ไข้หวัดนก โรคระบาดในสัตว์ปีกต่าง ๆ

สัตว์ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

ในที่นี้ขอเน้นไปที่สัตว์ร้ายในทะเล เพราะเป็นสถานที่เที่ยวสุดฮิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเจ้าตัวร้ายที่พบได้บ่อย คือ

แมงกะพรุนไฟ

มีมากบริเวณชายทะเล และแนวชายหาด เมื่อถูกแมงกะพรุนไฟเข้าไปสัมผัสกับร่างกาย จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปทั้งตัว ลักษณะของแมงกะพรุนไฟ ลำตัวจะมีรูปร่างคล้ายร่ม มีสีแดง มีหนวดยื่นยาว  เมื่อถูกพิษของแมงกะพรุนไฟ ควรจะใช้น้ำส้มสายชูในการล้างแผล ไม่ควรใช้น้ำจืด และหลังจากนั้นควรรีบไปให้แพทย์ทำการตรวจรักษาทันทีทันใด วิธีที่จะป้องกันอันตรายจากแมงกะพรุนที่สำคัญ นักเล่นน้ำควรหลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำทะเลในบริเวณที่มีแมงกะพรุนไฟ ชุกชุม หรือช่วงหลังพายุฝน

เม่นทะเล บุ้งทะเล

หากโดนหนามเม่นตำ จะเกิดอาการอักเสบบวมแดง เจ็บปวดและเป็นไข้ได้ หนามของเม่นทะเลจะทำให้เกิดอาการชาอยู่นาน เมื่อถูหนามเม่นทะเลตำให้ถอนหนามออก หากถอนไม่ออกให้พยายามทำให้หนามบริเวณนั้นแตกเป็น ชิ้นเล็ก ๆ โดยการปิดบริเวณผิวหนังไปมา หรือแช่แผลในน้ำร้อนประมาณ 50 องศาเซลเซียส เพื่อช่วย ให้หนามย่อยสลายเร็วขึ้น

พิษจากการกินอาหารทะเล เช่น พิษจากปลาปักเป้าและแมงดาทะเล ทำให้มีอาการปากชา หน้าชา หายใจลำบากและเสียชีวิตได้จากการหยุดหายใจ  เช่นเดียวกับการกินแมงดาทะเล ซึ่งในฤดูร้อนต่อฤดูฝน เป็นช่วงการวางไข่ทำให้การกินแมงดาทะเลโดยเฉพาะแมงดาจานที่จับได้จากในทะเลซึ่งเดิมไม่มีพิษ เกิดมีพิษมากขึ้นได้ แมงดาถ้วยจะอาศัยอยู่ตามชายหาดและมีพิษอยู่ที่อวัยวะภายใน เช่น รังไข่ เมื่อคนกินเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หายใจลำบากและหยุดหายใจได้เช่นกัน

รู้อย่างนี้แล้ว…ก็อย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพอนามัยตัวเอง ระมัดระวังการเลือกรับประทานอาหาร น้ำดื่มเพื่อจะได้ปลอดภัย ไกลห่างการเจ็บป่วย คอยสอดส่องระวังสัตว์เลี้ยง และ สัตว์พิษที่อยู่รอบๆตัวคุณ เพื่อให้มีความสุขในหน้าร้อนนี้ด้วยครับ

ที่มา : ผศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility