แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

ความรู้สุขภาพ – Page 4 – โรงพยาบาลราชวิถี

Category Archives: ความรู้สุขภาพ

  • -

รพ.ราชวิถี รณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day 2021

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ แนะนำประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการได้ยินที่ใช้ในการสื่อสารในทุกช่วงอายุเพื่อป้องกันและแก้ไขฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางการได้ยินซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

625367

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO)      ได้กำหนดให้เป็น “วันการได้ยินโลก (World Hearing Day 2021)” เพื่อรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการได้ยินและการป้องกันการสูญเสียการได้ยินในทุกช่วงของชีวิต ซึ่งปัญหาการสูญเสียการได้ยินถือเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) พบว่า การออกบัตรประจำตัวคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย มีมากเป็นลำดับที่ 2 (391,785 คน หรือ ร้อยละ 18.87) รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย (ร้อยละ 49.73) โดยข้อมูลนี้เป็นจำนวนเฉพาะผู้ที่มารับการจดทะเบียนคนพิการ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าสู่ภาวะผู้สูงวัยทำให้อัตราผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสูงมากขึ้น และส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน เช่น การได้ยิน การสื่อสาร การแยกตัวออกจากสังคม ซึมเศร้า โรคหลงลืม และสมองเสื่อม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัย รวมทั้งผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินให้เข้าถึงการดูแลรักษาและฟื้นฟู เนื่องจากปัญหาการได้ยินเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ควรให้ความสำคัญ

626897

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการได้ยินเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากความผิดปกติทางพันธุกรรม การอักเสบติดเชื้อของหู การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง ศีรษะได้รับการกระทบกระแทกรุนแรง ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ การสัมผัสเสียงดังเกินระดับปลอดภัย การเสื่อมสภาพตามอายุ เป็นต้น อาการเบื้องต้นของผู้ที่มีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน ได้แก่ หูอื้อ ไม่ได้ยินเสียง ได้ยินเสียงแต่จับใจความไม่ได้ ไม่สามารถพูดคุยในสถานที่มีเสียงรบกวน ต้องเปิดวิทยุโทรทัศน์เสียงดังมากกว่าปกติ ฟังโทรศัพท์ไม่ได้ยิน ปัญหาการได้ยินในเด็ก คือ จะมีอาการพูดช้าหรือไม่พูดตามระยะของพัฒนาการ เรียกไม่หันตามเสียง มีปัญหาการเรียน หากมีอาการหรือพบผู้มีอาการควรรีบมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจรักษาและวัดระดับการได้ยิน นอกจากนี้ยังชี้แนะในเรื่องปัญหาการได้ยินที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ได้แก่ ประสาทหูเสื่อมก่อนวัย เนื่องจากพฤติกรรมของวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยทำงานที่ต้องใช้หูฟังของโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นเวลานานๆ หรือเปิดเสียงดัง ซึ่งควรจะต้องมีการกำหนดระดับความดังและเวลาที่เหมาะสมในการใช้งานต่อวันเพื่อการป้องกันต่อไป ทั้งนี้ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ได้จัดให้มีการดูแลการได้ยิน เริ่มตั้งแต่ทารกแรกเกิดโดยทำการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลราชวิถีทุกราย และให้การดูแลรักษาโรคหูต่างๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัยไปจนถึงการรักษาฟื้นฟู มีบริการตรวจวัดการได้ยินด้วยเครื่องตรวจวัดระดับการได้ยินที่เป็นมาตรฐานโดยนักตรวจการได้ยินและให้บริการใส่เครื่องช่วยฟังเมื่อมีข้อบ่งชี้

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดทำแอพพลิเคชั่น ชื่อ “hearWHO” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจระดับการได้ยินด้วยตนเอง และสำหรับประเทศไทยมีแอพพลิเคชั่นที่เป็นภาษาไทยเช่นกัน ชื่อว่า “Eartone หรือ ตรวจการได้ยิน” จึงอยากเชิญชวนประชาชนตรวจประสิทธิภาพของการได้ยินด้วยตนเอง โดยสามารถโหลดบนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ ios และ Android โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

****************************************

#โรงพยาบาลราชวิถี #กรมการแพทย์ #กระทรวงสาธารณสุข #วันการได้ยินโลก

-ขอขอบคุณ-

2 มีนาคม 2564

Facebook กรมการแพทย์ : https://bit.ly/2Ob1jio

whd2021

%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%82-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a2%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a5%e0%b8%81_page_1

%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%82-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a2%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a5%e0%b8%81_page_2

Please follow and like us:

  • -

“โรคแพ้ถั่วปากอ้า” หรือ “ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD” โรคที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้

“โรคแพ้ถั่วปากอ้า” หรือ “ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD” คือ การที่ร่างกายมีระดับของเอนไซม์ G6PD ต่ำกว่าคนปกติ ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้พบได้ในเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เม็ดเลือดแดงคงตัว และป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย

 สาเหตุของโรค
 โรคพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นโรคทางพันธุกรรม ส่วนใหญ่จะพบการถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกชาย ในประเทศไทย โดยเพศชายเป็นโรคนี้ประมาณ 15% ส่วนผู้หญิงพบประมาณ 3-4% ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นพาหะ และผู้ชายจะเป็นโรค ซึ่งบางคนก็ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคนี้ เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด

การที่เม็ดเลือดแดงแตกตัว เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสาร หรือยาบางอย่าง เช่น ถั่วปากอ้า ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระมาก โดยเฉพาะถั่วปากอ้าสด จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายกว่าการรับประทานถั่วปากอ้าที่ผ่านการปรุงสุกมาแล้ว

 การได้รับยาบางกลุ่ม เช่น ยากลุ่ม NSAIDs บางชนิด ยาแอสไพริน ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟาหรือไนโตรฟูแรนโทอิน เป็นต้น ยาต้านมาลาเรียบางชนิด เช่น ควินิน หรือควินิดีน เป็นต้น

การรับประทานเชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตบางชนิดที่มีถั่ว ไวน์แดง และการได้รับกลิ่นลูกเหม็น

หากคนไข้ไม่ได้กินอาหารต้องห้าม หรือยาดังกล่าวข้างต้น ก็จะไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องรู้ว่าจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารและยาอะไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ

อาการในเด็ก

เด็กแรกเกิดจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง โดยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ต้องรับการส่องไฟ จะเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หากพบว่าเด็กมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง แพทย์ก็จะเจาะเลือดเพื่อดูเอนไซม์ G6PD ซึ่งจะทำให้ทราบตั้งแต่ตอนนั้นว่าเด็กเป็นโรคนี้หรือไม่

อาการในผู้ใหญ่

คนไข้จะมีอาการเมื่อได้รับยา หรือสารต้องห้าม เนื่องจากเจ้าตัวไม่ได้รู้มาก่อนว่าเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก คนไข้จะมีอาการซีดลง รู้สึกเหนื่อยเพลีย โดยจะมีอาการ 1-2 วันหลังจากได้รับสารต้องห้าม นอกจากนั้นปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีโค้กหรือสีน้ำปลา เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนที่ไต และทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี ซึ่งหากมีอาการนี้ควรรีบมาพบแพทย์

การรักษา

เนื่องจากโรคภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตราย หากคนไข้ไม่ได้รับสาร หรืออาหารต้องห้าม จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา หรือรักษาให้หายขาด

การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ในกรณีที่คนไข้มีอาการเหนื่อยเพลีย หน้ามืด เป็นลม ปัสสาวะเป็นสีโค้ก เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์จะให้น้ำเกลือ เพื่อขับสารสีโค้กให้ออกจากร่างกายโดยเร็ว หลังจากนั้นเม็ดเลือดแดงก็จะหยุดการแตกตัวได้ภายใน 7-10 วัน

การดูแลผู้ป่วยโรคภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD

1. ผู้ป่วยจะต้องมีสมุดประจำตัว เวลาไปพบแพทย์หรือเภสัชกร จะได้ทราบว่าควรหลีกเลี่ยงยาชนิดใดบ้าง

2. หลีกเลี่ยงการกินถั่วปากอ้า การกินเชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตบางชนิดที่มีถั่ว ไวน์แดง

 3. หลีกเลี่ยงการได้กลิ่นลูกเหม็น

4. หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs บางชนิด ยาแอสไพริน ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา หรือไนโตรฟูแรนโทอิน เป็นต้น ยาต้านมาลาเรียบางชนิด เช่น ควินิน หรือควินิดีน เป็นต้น

5. เมื่อมีอาการซีด เหนื่อย เพลีย ตัวเหลือง ปัสสาวะเปลี่ยนสี ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน ไม่เลือกรับประทานเฉพาะอาหารที่ชอบ

7. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการสูบบุหรี่

การป้องกัน

เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม จึงไม่สามารถป้องกันได้ การป้องกันจึงทำได้เพียงการหลีกเลี่ยงยาและสารกระตุ้นที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัว

แม้ว่าโรคพร่องเอนไซม์ G6PD จะเป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายและความรุนแรงถึงชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หรือผู้ที่วางแผนจะมีบุตร ควรรู้จัก เพื่อจะได้สังเกตอาการของลูกว่ามีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD หรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมการรักษาและการป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกนั่นเอง


ที่มา : สุขภาพและความงาม ไทยรัฐออนไลน์

Please follow and like us:

  • -

ประโยชน์ของการฟังเพลงขณะออกกำลังกาย

ประโยชน์ของการฟังเพลง ขณะออกกำลังกาย thaihealth

ปัจจุบัน ถ้าคุณได้มีโอกาสเข้าไปในสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ ทั้งสวนสาธารณะ ฟิตเนส คุณจะสังเกตเห็นอุปกรณ์ยอดนิยม ที่ผู้ออกกำลังกายส่วนใหญ่ใส่กันอยู่ สิ่งนั้นก็คือหูฟังรูปแบบต่างๆ นั่นเอง หูฟังจัดเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ชื่นชอบออกกำลังกายส่วนใหญ่พกติดตัวตลอดเวลา เสียงเพลงจะทำให้พวกเขาเพลิดเพลินและสนุกสนานไปกับการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แล้ว หลายคนอาจจะยังไม่ทราบถึงประโยชน์อื่น ๆ ของการฟังเพลงขณะออกกำลังกาย ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าการฟังเพลงขณะออกกำลังกายส่งผลดีอย่างไรบ้าง การฟังเพลงขณะออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยลดความเบื่อหน่ายแล้ว ยังช่วยพัฒนาคุณภาพในการออกกำลังกายโดยการเพิ่มความทนทานได้อีกด้วย

ประโยชน์ของการฟังเพลงขณะออกกำลังกาย

• การฟังเพลงขณะออกกำลังกายนอกจากจะช่วยลดความเบื่อหน่ายแล้ว ยังช่วยพัฒนาคุณภาพในการออกกำลังกาย โดยการเพิ่มความทนทานได้อีกด้วย1

• มีงานวิจัยที่ทำการวัดคลื่นสมองด้วยเครื่อง Electroencephalogram (EEG) ในขณะฟังเพลงพบว่า การฟังเพลงขณะออกกำลังกายนั้นช่วยลดคลื่นธีต้า (Theta waves) ชนิดความถี่ 4-7 เฮิร์ต (Hz) ได้2ซึ่งกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการระงับอาการเมื่อยล้าต่างๆ3 นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนบอกว่า หากวิ่งพร้อมฟังเพลงไปด้วย จะทำให้วิ่งได้นานขึ้นก็เป็นได้

• เมื่อดูผลของการฟังเพลงที่มีต่อระบบการทำงานของร่างกายขณะออกกำลังกาย พบว่า การฟังเพลงที่ทำให้เรารู้สึกสนุกสนานจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ ในทางตรงข้าม หากฟังเพลงที่ฟังแล้วหดหู่ การไหลเวียนโลหิตก็จะลดลงไปถึง 6 เปอร์เซ็นต์4 ซึ่งการไหลเวียนของโลหิตที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยให้ร่างกายนำออกซิเจนไปใช้ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ถึงตอนนี้หลายคนคงพอจะทราบถึงประโยชน์ของการฟังเพลงไปบ้างแล้ว ก็อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วต้องเลือกเพลงแบบไหนมาใช้ฟังขณะออกกำลังกายกันนะ

การเลือกระดับความเร็วของเพลงที่ฟังขณะออกกำลังกายก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพการออกกำลังกายได้ มีงานวิจัยพบว่า การฟังเพลงที่มีจังหวะเร็วจะส่งผลดีต่อสมรรถภาพทางกายเมื่อออกกำลังกายที่ระดับความหนักเบาถึงปานกลาง 5  โดยที่การออกกำลังกายแต่ละชนิดก็จะมีระดับความเร็วของจังหวะเพลงที่เหมาะสมแตกต่างกัน เช่น หากต้องการปั่นจักรยานให้มีสมรรถภาพทางกายสูงสุดก็ควรเลือกฟังเพลงที่จังหวะความเร็ว 125 – 140 BPM6  หรือเวลาวิ่งบนลู่วิ่งสายพานให้มีสมรรถภาพทางกายสูงสุดก็ควรเลือกฟังเพลงที่จังหวะความเร็ว 123-131 BPM7 

แต่ทั้งนี้ร่างกายของแต่ละบุคคลก็จะตอบสนองต่อระดับจังหวะความเร็วของเพลงที่แตกต่างกัน ลองเลือกเพลงที่คุณชอบ ที่สามารถทำให้การออกกำลังกายของคุณสนุกสนาน มาจัดเพลย์ลิสต์ให้เหมาะสม แล้วไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอกันเถอะ

ที่มา :thaihealth.or.th

Please follow and like us:

  • -

แนะทานอาหารครบ 5 หมู่ ฟื้นฟูวัณโรคปอด

แนะทานอาหารครบ 5 หมู่ ฟื้นฟูวัณโรคปอด thaihealth

            กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะผู้ป่วยวัณโรคปอด รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ จะทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากโรคและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

           นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า วัณโรค หรือ TB คือโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์ คูโลซิส วัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย และบริเวณที่ติดเชื้อวัณโรคบ่อยที่สุดก็คือปอด ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า ฝีในท้อง แต่ก็สามารถติดเชื้อที่ส่วนอื่นของร่างกายได้เช่นกัน เช่น ในกระดูก ลำไส้ ต่อมน้ำเหลือง หรือสมอง วัณโรคแพร่เชื้อโดยการไอ จาม ฝอยละอองเสมหะที่ออกมาจากปอดของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคและผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคก็คือผู้ที่หายใจรับเชื้อวัณโรคที่ล่องลอยในอากาศเข้าสู่ปอด

           อาการของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดมีหลายอาการ และสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคปอดมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว คือ ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร สาเหตุของการเบื่ออาการก็คือ ผลจากโรคและผลข้างเคียงจากยา ต่อมรับรสผิดปกติ มีเสมหะ ไอ เหนื่อย รวมทั้งดื่มน้ำมากเกินไปทำให้อิ่มน้ำ ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายขาดสารอาหาร ส่งผลให้อาการของโรคและอาการแพ้ยารุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่  นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าว

          นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนนั้น ผู้ป่วยวัณโรคปอดควรเลือกรับประทานอาหารในหมู่ต่างๆ ดังนี้ หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ต่างๆ นม ไข่ เต้าหู้ ช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีน ในการฟื้นฟูเสริมสร้างภูมิต้านทาน หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง ข้าวโพด เผือก มัน ฟักทอง น้ำตาลควรเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ขัดสี เช่นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เพราะมีวิตามินบีสูงช่วยลดอาการชาปลายมือปลายเท้าและเพิ่มความอยากอาหาร หมู่ที่ 3 และ 4 พืชผักและผลไม้ต่างๆ ควรเลือกรับประทานให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารต่างๆ ตลอดจนเสริมสร้างภูมิต้านทาน ป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

         หมู่ที่ 5 น้ำมัน ไขมันจากพืชและสัตว์ ซึ่งให้พลังงานสูง สร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย ควรเลือกบริโภคน้ำมันที่มีกรดไขมันดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอ และมีเสมหะ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ ของทอด ของมัน กะทิ และน้ำเย็น น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง อาทิ  น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว อาหารที่มีแก๊สสูง เช่น ของดอง ถั่ว น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่มีกลิ่นแรง และอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากผู้ป่วยวัณโรคปอดสามารถปฏิบัติตนโดยรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากโรคและมีสุขภาพแข็งแรง  นายแพทย์เอนกกล่าว

ที่มา : www.thaihealth.or.th

Please follow and like us:

  • -

ระวัง !! เชื้อดื้อยา

ระวัง !! เชื้อดื้อยา  thaihealth

       เคยสังเกตไหมว่า เป็นหวัดนิดหน่อย ท้องเสียบางวัน หรือหกล้มมีแผลสด หลายคนรีบถามหายาฆ่าเชื้อโดยทันที ทั้งที่อาการเหล่านี้ สามารถรักษาตามอาการและหายเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยาเหล่านั้น  มิหนำซ้ำหากรับงานฆ่าเชื้อโดยไม่สมเหตุสมผลหรือไม่จำเป็นอาจทำให้คุณเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยานั่นเอง

        เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นวิกฤตร่วมกันของทุกประเทศ มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง 700,000 คนต่อปี ซึ่งประเทศไทย 38,000 คนต่อปี จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 ในคนไทยอายุมากกว่า 15 ปี 54 ล้านคน พบว่า มีความรู้และเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยา และยาต้านจุลชีพในระดับที่ดีพอ ประมาณ 13 ล้านคน สิ่งที่สำคัญคือการทำให้ประชาชนอีกกว่า 41 ล้านคนมีความรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในทุกภาคส่วนได้อย่างไร

        จึงเป็นที่มาของงานสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก ปี 2563 (Thailand’s World Antimicrobial Awareness Week 2020) ที่มีขึ้นเมื่อ วันที่ 16-24 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา  จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข สสส.และ 21 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ สมาคมและองค์กรวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

ระวัง !! เชื้อดื้อยา  thaihealth

             สืบเนื่องจากปัญหาว่าประเทศไทยและทั่วโลก เจอปัญหาของเชื้อดื้อยา ซึ่งถ้าเราไม่รีบจัดการต่อไปหากมีการติดเชื้อ เราจะไม่มียาใช้ และสูญเสียชีวิต ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สัปดาห์ตระหนักรู้เรื่องการใช้ยาจุลชีพ จัดเป็นประจำทุกปี  ถือเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในประเทศไทย ร่วมมือกับ WHO สิ่งที่ทำได้คือ มีแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เป็นกลไกเฝ้าระวัง งานวิชาการ การสื่อสารประชาสัมพันธ์และการออกกฎหมายควบคุมและกำกับ เป็นต้น โดยเน้นการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่พร่ำเพรื่อ ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว  นั่นหมายถึง คน สิ่งแวดล้อม สัตว์ และอาหาร

           “ตอนนี้จะเห็นว่าเรามีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้กันอย่างกว้างขวาง ถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำคู่ขนานกับมาตรการและวิชาการ เพราะประชาชนคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และเป็นผู้ที่อาจทำให้เกิดการดื้อยาโดยเฉพาะเรื่องการใช้ยาผิด หลายๆ โรคไม่จำเป็นต้องใช้ยา เราต้องให้ประชาชนรู้ ตระหนักและก็พยายามปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ตอนนี้เราเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ก็อย่าชะล่าใจ สสส.จึงต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์ต่อ เรามีเดิมพันคือโรคติดเชื้อ ถ้าเราติดเชื้อไม่มียาฆ่าเชื้อ เราจะถึงวิกฤตของระบบสุขภาพได้อย่างแท้จริง” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

3 โรคพบบ่อย หายเองได้ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

1.โรคหวัด ไอ ไข้ไม่สูง ไม่เจ็บคอ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ เพราะหวัดเกิดจากเชื้อไวรัสไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ  ต้องทำร่างกายให้แข็งแรง โดยการดื่มน้ำอุ่นและพักผ่อนมากๆ  เพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้และหายได้เร็ว

2.ท้องเสีย ไม่มีไข้ ไม่มีมูกเลือด ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ เพราะท้องเสียส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย วิธีรักษาที่ดีที่สุด คือ ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป เลือกทานอาหารอ่อนๆ งดอาหารรสจัดหรือย่อยยากและไม่ควรดื่มนม

3.แผลสด  แผลไม่ลึก ไม่สกปรกมาก ไม่ใช่แผลถูกกัด ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

           สสส.เป็นองค์กรที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์สื่อสารการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน ทั้งยังแสดงเจตนารมณ์ ในการดำเนินงานเรื่องนี้เพื่อนำสู่การลดการดื้อยาและให้ทุกคนมีสุขภาพดีทั่วกัน

ที่มา : www.thaihealth.or.th

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility