แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

ความรู้สุขภาพ – Page 2 – โรงพยาบาลราชวิถี

Category Archives: ความรู้สุขภาพ

  • -

รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ “เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร” นำร่องแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ได้เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร โดยมี นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และ แพทย์หญิงพิมลพรรณ ต่างวิวัฒน์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ร่วมเปิดงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ

683667

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวและมีปัญหาประชากรเกิดน้อย โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และค่านิยมการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการมีบุตรของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทางกรมการแพทย์โดยโรงพยาบาลราชวิถีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้จัดให้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรโดยมุ่งเน้นให้บริการเชิงรุกในคู่สมรสที่เพิ่งแต่งงานเป็นหลัก เนื่องจากครอบคลุมกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ที่ยังมีอายุไม่มากเกินไป มีสุขภาพที่ดี และมีโอกาสที่จะมีบุตรที่มีคุณภาพ ส่วนการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจัดเป็นประเด็นสำคัญในลำดับถัดมาเนื่องจากครอบคลุมกลุ่มประชากรที่มีจำนวนไม่มาก และสามารถเข้ารับบริการที่คลินิกรักษาผู้มีบุตรยากของทางโรงพยาบาลอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กรมการแพทย์ยังได้มอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถีจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการตรวจน้ำอสุจิ การเตรียมน้ำอสุจิเพื่อฉีดเข้าโพรงมดลูก และการฉีดน้ำอสุจิเข้าโพรงมดลูก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน สามารถให้บริการได้ที่โรงพยาบาลขนาดเล็กโดยสูตินรีแพทย์ทั่วไป และมีราคาที่ไม่แพง เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนอีกด้วย

683668
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ โรงพยาบาลราชวิถีจึงได้จัดให้มีบริการตรวจสุขภาพของคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ฟรี! จำนวน 50 คู่ โดยคู่สมรสสามารถโทรเข้ามาที่ศูนย์ประสานงานเพื่อนัดคิวตรวจ และทำบัตรโรงพยาบาลผ่านระบบออนไลน์ เมื่อถึงวันที่มาตรวจคู่สมรสสามารถมารับการตรวจแบบ one stop service ได้ที่คลินิกส่งเสริมการมีบุตร ชั้น 6 อาคาร ทศมินทราธิราช โดยจะมีการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ และพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ สำหรับผลการตรวจเลือดบางชนิดที่ต้องรอระยะเวลาในการตรวจมากกว่า 1 วัน ผู้ที่มาตรวจจะได้รับการแจ้งผลเลือดผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

s__149889039_0

นายแพทย์ทรงพล พุทธศิริ หัวหน้างานเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลราชวิถี ได้หยุดให้บริการทำเด็กหลอดแก้วไปช่วงหนึ่ง โดยในปัจจุบันได้ย้ายมาเปิดดำเนินการที่ชั้น 6 อาคารทศมินทราธิราช และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร” สำหรับให้บริการตรวจรักษาภาวะมีบุตรยากที่ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก การฉีดน้ำอสุจิเข้าโพรงมดลูก การทำเด็กหลอดแก้ว การแช่แข็งตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์ นอกจากนี้เพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายของกรมการแพทย์ที่ต้องการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ทางหน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์จึงได้เปิดให้บริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตรเพื่อเตรียมตัวคู่สมรสให้มีความพร้อมในการมีบุตรในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย

**************************************

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #คลินิกส่งเสริมการมีบุตร
– ขอขอบคุณ –
13 พฤศจิกายน 2566

**************************************

รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ “เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร” นำร่องแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ อ่านต่อที่ https://shorturl.asia/k2UWp

%e0%b9%82%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b8%88%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%82%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%81

683652

2

Please follow and like us:

  • -

กรมการแพทย์แนะแนวทางห่างไกลโรคไข้หวัดใหญ่

กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี ชี้  “ไข้หวัดใหญ่” เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดปี และระบาดในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยเฉพาะในฤดูหนาวและฤดูฝนที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี พร้อมแนะควรใส่หน้ากากอนามัยหากไปในสถานที่แออัดหรือเสี่ยงติดเชื้อโรค

611717

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza virus) สามารถจำแนกออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ บี ซีและดี โดยชนิดเอ และบี มักก่อให้เกิดไข้หวัดตามฤดูกาล ผู้ป่วยอาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดทั่วไป ( Common cold)  ส่วนใหญ่สามารถหายได้ใน 1-2 สัปดาห์แต่บางรายอาจมีความรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไปคือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมทโทรทัศน์ เมื่อใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยง่าย

611718

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่มักแสดงอาการที่อาจทำให้ท่านสับสนกับไข้หวัดทั่วไป โดยอาการแสดงเด่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ไอแห้ง มีน้ำมูกใส คัดจมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้สูง อ่อนเพลีย โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที ทั้งนี้วิธีการรักษาส่วนใหญ่รักษาตามอาการเบื้องต้น เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงจะพิจารณาให้ยาฆ่าไวรัส (Antivirals) ซึ่งจะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส  ทำไห้ลดระยะเวลาอาการเจ็บป่วย ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น  ความจำเป็นในการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีความเสี่ยงสูงหรือมีความจำเป็นในการใช้

นายแพทย์ภาณุวัฒน์ วงษ์กุหลาบ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทำได้โดย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร เป็นต้น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรใส่หน้ากากอนามัย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เป็นต้น ที่สำคัญคือควรใส่หน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แออัดหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาล สถานีขนส่งสาธารณะ ห้างสรรพสินค้าหรือตลาดที่มีคนจำนวนมาก เป็นต้น

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #ไข้หวัดใหญ่

27 กันยายน 2566

******************

กรมการแพทย์แนะแนวทางห่างไกลโรคไข้หวัดใหญ่ อ่านต่อที่ https://shorturl.asia/YylcJ

%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b9%84%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%88

611410

Please follow and like us:

  • -

พาร์กินสัน อาการสั่นที่ไม่ควรมองข้าม

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ชี้ โรคพาร์กินสันมีความสำคัญต่อการสาธารณสุขไทย เพราะเป็นโรคที่ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทุพพลภาพ เพิ่มอัตราการเสียชีวิต และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลอีกด้วย

599325

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์สมองในบางตำแหน่งเกิดมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า “โดพามีน” (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมีการตายและลดจำนวนลง จึงทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดอาการสั่น แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายช้า และสูญเสียการทรงตัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้าๆ และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้

2-%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%9e%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b8%b2-%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%88%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%98%e0%b8%b4

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โดยปกติแล้วโรคนี้จะมีอาการที่แสดงออกมามาก หรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง ซึ่งอาการที่แสดงออกมีดังนี้ อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง การทรงตัวไม่ดี เสียงค่อยและเบาลง สีหน้าไร้อารมณ์ หลังค่อม ตัวงุ้มลง ความสามารถในการได้กลิ่นลดลง ท้องผูก ตะโกนร้อง หรือมีการขยับแขนขาอย่างรุนแรงในขณะหลับ เขียนตัวหนังสือเล็กลง เป็นต้น

แพทย์หญิงพิมลพรรณ เลี่ยนเครือ นายแพทย์ชำนาญการ ด้านประสาทวิทยา กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพาร์กินสัน รักษาได้โดย การรับประทานยา เพื่อเพิ่มปริมาณสารเคมีโดปามีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแพทย์จะพิจารณาการให้ยาตามอาการของผู้ป่วย การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง และการทรงตัว ผู้ป่วยจะสามารถสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น และการผ่าตัด เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีภาวะการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการรับประทานยา การผ่าตัดจะใช้วิธีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง เรียกว่า การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก หากพบว่าคนในครอบครัวมีอาการเข้าข่ายจะเป็นโรคนี้ควรรีบพาเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยนั่นเอง

**************************************

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #โรคพาร์กินสัน
– ขอขอบคุณ –
19 กันยายน 2566

**************************************

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ชี้ โรคพาร์กินสันมีความสำคัญต่อการสาธารณสุขไทย เพราะเป็นโรคที่ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทุพพลภาพ เพิ่มอัตราการเสียชีวิต และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลอีกด้วย อ่านต่อที่ https://shorturl.asia/YiayM

rj-health-%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%9e%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%99-1

599312

Please follow and like us:

  • -

แพทย์เตือนอันตรายจากการแคะหู เสี่ยงแก้วหูทะลุอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เตือน การแคะหูเองนอกจากจะแคะขี้หูได้ไม่หมดเนื่องจากมองเห็นได้ไม่ชัดเจนแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อหูชั้นนอก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง หากมีอาการผิดปกติ เช่น หูอื้อ ปวดหู คันหู การได้ยินลดลง มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหู ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

591289

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแคะหู หรือ ปั่นหูบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากขี้หูของคนเรานั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการป้องกันสิ่งแปลกปลอม ช่วยเคลือบช่องหู และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ถ้าไม่มีขี้หูจะทำให้รูหูแห้งและคัน คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าขี้หูเป็นสิ่งสกปรกในร่างกายที่ต้องกำจัดออกจึงแคะหรือปั่นหูบ่อยๆ ซึ่งความเป็นจริงแล้วขี้หูจะสามารถหลุดออกมาได้เองหรือเรียกว่า Self-Cleaning Mechanism คือการค่อยๆ ทำความสะอาดตัวเอง โดยขี้หูและผิวหนังที่หลุดลอกจะค่อยๆ เคลื่อนที่ออกมาที่ปากรูหูและหลุดออก ดังนั้น การทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลีแคะหู ใช้น้ำหยอดหู จึงไม่มีความจำเป็นยกเว้นในบางคน สำหรับคนที่ขี้หูเหนียวและเคลื่อนที่ออกมาช้า ทำให้ขี้หูรวมตัวกันเป็นก้อนภายในรูหู ส่งผลให้มีอาการหูอื้อ ปวดแน่น ในหู กรณีเช่นนี้ควรพบแพทย์เพื่อทำความสะอาดรูหู ไม่ควรแคะเอง เพราะจะทำให้ขี้หูอุดตันถูกดันลึกมากขึ้น

591290

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า การแคะหูบ่อยๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายหลายอย่าง เช่น อาจทำให้เกิดรอยถลอกหรือแผลในรูหู ก่อให้เกิดการอักเสบของหูชั้นนอก ทำให้มีอาการปวดหู หูอื้อ มีน้ำไหลจากหู บางรายขณะแคะหูอยู่อาจมีคนวิ่งหรือเดินมาชนแล้วทำให้ไม้พันสำลีถูกกระแทกเข้าไปถึงเยื่อแก้วหู อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้ ดังนั้น การดูแลรักษาหูจึงควรหลีกเลี่ยงการแคะหู โดยใช้เพียงผ้าเช็ดทำความสะอาดบริเวณนอกรูหูเท่านั้น นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการ หากเริ่มมีอาการเจ็บในช่องหู หูอื้อ ปวดหู คันหู การได้ยินลดลง มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหู ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี หากละเลยอาการของภาวะขี้หูอุดตันโดยไม่ทำการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นสูญเสียการได้ยิน

s__149495849

นายแพทย์ดาวิน เยาวพลกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากหูมีภาวะที่ปกติดีไม่ควรทำการแคะหู ควรทำความสะอาดหูเฉพาะภายนอก หากมีความต้องการทำความสะอาดในช่องหูควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์จะทำการส่องกล้องภายในรูหู และใช้เครื่องมือในการนำขี้หูออก โดยไม่สัมผัส  ตัวเยื่อบุ หรือผนังหู นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงเสียงที่ดัง เพราะเสียงดังจะส่งผลโดยตรงทำให้เกิดอันตรายต่อหูชั้นในและทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็ว อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

 

**************************************

 

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #อันตรายจากการแคะหู

– ขอขอบคุณ –

13 กันยายน 2566

**************************************

แพทย์เตือนอันตรายจากการแคะหู เสี่ยงแก้วหูทะลุอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน  อ่านต่อที่ https://shorturl.asia/qD5tK

info-%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%84%e0%b8%b0%e0%b8%ab%e0%b8%b9

Please follow and like us:

  • -

“การคลอดลูกในน้ำ” ทางเลือกหนึ่งของการคลอดวิถีธรรมชาติ

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เผย การคลอดลูกในน้ำเป็นที่นิยมแพร่หลายในต่างประเทศ โดยการคลอดด้วยวิธีนี้จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเจ็บปวดขณะคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่คลอดลูกได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การคลอดลูกในน้ำควรอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของสถานที่ คุณแม่ และทารกด้วย

523756

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “การคลอดลูกในน้ำ” จัดเป็นการคลอดวิถีธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้หลักการที่สำคัญของการคลอดวิถีธรรมชาติหลายอย่าง เช่น มีเพื่อนระหว่างคลอด มีความเป็นส่วนตัว ใช้ท่าลำตัวตั้งขึ้นในการคลอด อีกทั้ง การแช่น้ำอุ่นเป็นวิธีการบรรเทาอาการปวดโดยไม่ต้องใช้ยา ทำให้ฮอร์โมนทำงานได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น ทั้งนี้ แม้การคลอดในน้ำจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงหลายประการที่ควรระวัง นอกจากนี้คุณแม่บางรายอาจไม่เหมาะกับการคลอดลูกในน้ำ การคลอดด้วยวิธีนี้จึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

2-%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%9e%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b8%b2-%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%88%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%98%e0%b8%b4

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า สำหรับการคลอดด้วยวิธีนี้ คุณแม่จะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ และทารกไม่อยู่ในสภาวะเสี่ยง แต่ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยเพราะเมื่อศีรษะของทารกพ้นจากช่องคลอดแล้ว ก็จะลอยตัวอยู่ในน้ำได้ ซึ่งน้ำจะช่วยรองรับแรงกระแทก และป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย สำหรับการลงแช่น้ำอุ่นเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาอาการปวดขณะเจ็บครรภ์โดยไม่ต้องใช้ยาวิธีหนึ่ง กลไกการลดปวดของการลงแช่น้ำอุ่นที่สำคัญ คือ ระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีนลดลง เพราะว่าคุณแม่อยู่ในภาวะที่      ผ่อนคลาย มีความเป็นส่วนตัว, ฮอร์โมนเอนดอร์ฟีนเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถลดอาการปวดได้ ยิ่งปวดมากขึ้นเท่าใด คุณแม่ก็จะหลั่งฮอร์โมนนี้มากขึ้นเท่านั้น อีกทั้ง ความกดดันในช่องท้องที่น้อยลง น้ำหนักตัวเบาลงเมื่อเทียบกับเวลาอยู่บนบก ช่วยลดความเครียด ทำให้ฮอร์โมนอะดรีนาลีนลดลงได้

รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติอุณหภูมิของน้ำในอ่างจะอยู่ที่ประมาณ 37˚C  ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิของคุณแม่ โดยปกติขณะที่ลูกคลอดออกมาอยู่ในน้ำก็จะยังไม่หายใจทันทีจนกว่าจะสัมผัสกับอากาศภายนอกที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้คว่ำหน้าเด็กลงขณะสัมผัสกับอากาศเวลาที่นำตัวเด็กขึ้น เนื่องจากน้ำคร่ำในปอดเด็กจะได้ไหลออกมา แต่เด็กมีโอกาสที่จะหายใจเอาน้ำในอ่างเข้าไปได้เมื่อหลังสัมผัสกับอากาศในขณะที่หน้ายังไม่พ้นจากน้ำ ดังนั้น จึงมีบางตำราแนะนำให้ทารกนอนหงายขณะที่ถูกนำขึ้นสัมผัสกับอากาศเพื่อให้หายใจเอาอากาศได้ทันทีที่หน้าเริ่มโผล่พ้นผิวน้ำ แต่เนื่องจากระยะเวลานับจากที่เด็กสัมผัสกับอากาศแล้วเริ่มหายใจนั้นสั้นมากไม่ว่าเด็กจะคว่ำหน้าหรือหงายหน้าก็ตาม ทำให้ไม่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการสำลักน้ำ โดยปกติการนำตัวเด็กขึ้นจากน้ำอย่างนุ่มนวลจะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 10 วินาทีแรกหลังคลอด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคุณแม่ทุกคนสามารถคลอดในน้ำได้ ข้อบ่งห้ามของการคลอดในน้ำมีดังต่อไปนี้ คุณแม่ไม่ต้องการคลอดในน้ำ, ทารกอยู่ในสภาวะเสี่ยงซึ่งต้องการติดตามการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง เช่นมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเครียด มีขี้เทาในน้ำคร่ำ คุณแม่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีเลือดออกก่อนคลอด อาจมีภาวะรกเกาะต่ำ, มีความดันโลหิตสูงจากภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจเกิดอาการชักได้ ครรภ์แฝดทารกอยู่ในท่าก้น ทารกคลอดก่อนกำหนด ระยะที่ 2 ของการคลอดเนิ่นนาน และไม่มีสูติแพทย์ที่สามารถดูแลการคลอดในน้ำได้ ทั้งนี้ การคลอดในน้ำ    ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการคลอดวิถีธรรมชาติ โดยจะต้องมีการเตรียมการอย่างถูกต้องเหมาะสมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่    การเตรียมอ่างน้ำที่สะอาดปลอดภัย น้ำที่ใช้ในการคลอดผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาแล้ว เช่น การใช้รังสีอัลตร้าไวโอเล็ต การใช้  น้ำกรอง มีอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อของเด็ก การเตรียมความพร้อมของคุณแม่และทารก รวมทั้งการเตรียมทีมสูติแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้พร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

**************************************

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #การคลอดในน้ำ

– ขอขอบคุณ –

กรกฎาคม 2566

**************************************
“การคลอดลูกในน้ำ” ทางเลือกหนึ่งของการคลอดวิถีธรรมชาติ อ่านต่อที่ https://shorturl.asia/rp6Yq
water-birth
Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility