แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

‘แม่หลังคลอด’ เสี่ยงซึมเศร้ารุนแรง – โรงพยาบาลราชวิถี

‘แม่หลังคลอด’ เสี่ยงซึมเศร้ารุนแรง

  • -

‘แม่หลังคลอด’ เสี่ยงซึมเศร้ารุนแรง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เสี่ยงซึมเศร้าแม่หลังคลอด

       นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายในงาน “มอบความสุขนี้ให้แม่ : Happiness for Mom ” เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2560 ว่า กลุ่มแม่หลังคลอดเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่กรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งในประเทศไทยมีการศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด พบสูงถึง ร้อยละ 16.8 หญิงหลังคลอดมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ

          รองอธิบดีฯ กล่าวว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ได้แก่ สุขภาพมารดา ความขัดแย้งระหว่างคู่สมรส ความไม่เพียงพอของรายได้ และความกดดันทางสังคมของเพศหญิง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักมีอาการรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการทารก โดยเฉพาะด้านภาษา หญิงที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักจะมีปัญหาในการเลี้ยงดูบุตร เช่น ขาดปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ขาดพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ขาดการแสดงความรัก รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เช่น การใช้อารมณ์กับบุตร โดยพบถึงร้อยละ 41 ที่มีความคิดทำร้ายลูก การช่วยเหลือแม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดตั้งแต่เริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลถึงพัฒนาการของเด็กๆ ในอนาคต โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านภาษา

          “การสังเกตแม่หลังคลอดที่เสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า สามารถสังเกตได้จาก มีอาการเซื่องซึมง่าย เศร้าง่าย ร้องไห้ง่าย อารมณ์จะขึ้น-ลง เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวลไปหมด ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ฯลฯ หากอาการเป็นอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ ในการดูแลช่วยเหลือ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือจากคนใกล้ชิด ทั้งจาก พ่อ แม่ และสามีที่ต้องคอยให้กำลังใจว่า ภาวะที่เกิดขึ้นไม่ใช่โรค ไม่ใช่ความอ่อนแอ ภาวะนี้สามารถพบได้และจะหายไป ซึ่งคุณพ่อควรผลัดเปลี่ยนกันดูแลลูก เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน ลดปัญหาการนอนไม่หลับ อย่าตำหนิ หรือโมโห เวลาคุณแม่แสดงอารมณ์แปลกๆ ขึ้นๆ ลงๆ “นพ.ชิโนรส กล่าว

          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า สถาบันราชานุกูลได้ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาและทดสอบคุณภาพโปรแกรมช่วยเหลือมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดย พญ.วรวรรณ จงสง่าวิทยาเลิศ และคณะผู้ทำวิจัย ใช้ระยะเวลาในการวิจัย 3 ปี (พ.ศ. 2558 – 2560) ด้วยการพัฒนาโปรแกรมที่ดัดแปลงมาจาก THINKING HEALTHY: A manual for psychosocial management of perinatal depression (2) ของ WHO เป็นรูปแบบการช่วยเหลือโดยการเยี่ยมบ้านที่สามารถทำได้โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวช ซึ่งงานวิจัยนี้ ศึกษาในหญิงหลังคลอด 1 เดือน ที่คัดกรองพบภาวะซึมเศร้า ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี ขอนแก่น นครพนม เชียงใหม่ และกระบี่ เปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รูปแบบการเลี้ยงดูและพัฒนาการเด็กระหว่างกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือตามโปรแกรมเป็นระยะเวลา 6 เดือนกับกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือตามระบบ

          “ข้อมูลเบื้องต้น จากการคัดกรองหญิงหลังคลอด 1,198 คน พบ เสี่ยงภาวะซึมเศร้า 203 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.9 เมื่อได้รับการช่วยเหลือตามโปรแกรม ซึ่งจะเป็นการเยี่ยมบ้าน ให้ความรู้ และแนวทางการปฏิบัติตน ตลอดจนทักษะต่างๆ ในการดูแลสุขภาพ การรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง การสร้างความสัมพันธ์กับลูก และกับบุคคลรอบข้าง ซึ่งผลที่ได้ในภาพรวม พบว่า อาการซึมเศร้าของแม่หลังคลอด มีแนวโน้มลดลง” พญ.อัมพร กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility