แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

ทำแบบนี้…ระวังเส้นเอ็นขาดนะ – โรงพยาบาลราชวิถี

ทำแบบนี้…ระวังเส้นเอ็นขาดนะ

  • -

ทำแบบนี้…ระวังเส้นเอ็นขาดนะ

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กระแสออกกำลังกายยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องในยุคนี้ แม้ว่าว่าการออกกำลังกายถือเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะการออกกำลังกายมากเกินไป ยังสามารถทำร้ายร่างกายของเราได้เช่นกัน การใช้กำลังอย่างหักโหม นอกจากจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียแล้ว ยังทำให้ เกิดอาการบาดเจ็บ หรืออันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

เส้นเอ็นฉีกขาด โดยเฉพาะข้อเข่าและข้อไหล่ เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการดำเนินชีวิตในแบบที่เราอาจไม่ได้ระวังตัว เป็นอาการที่หากเกิดขึ้นรุนแรงแล้วแม้จะทำการรักษาก็อาจจะไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม 100 เปอร์เซ็นต์

 รู้ยัง? ผู้หญิงเสี่ยงบาดเจ็บเกี่ยวกับเอ็นข้อเข่ามากกว่าผู้ชาย

เพศหญิงมีอัตราการบาดเจ็บเส้นเอ็นแกนเข่าไขว้หน้ามากกว่าเพศชายในกีฬาบางประเภท เช่น บาสเก็ตบอล และยิมนาสติก ด้วยสภาพร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการควบคุมระบบประสาทของกล้ามเนื้อต่างกัน รวมถึงความแตกต่างของเชิงกราน การจัดเรียงตัวของแนวกระดุกขาที่แตกต่างกันในเพศชาย และหญิง และฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อเส้นเอ็น เป็นต้น

‘เส้นเอ็นขาด’ คืออะไร

ภาวะเส้นเอ็นแกนเข่าไขว้หน้าฉีกขาด หรือที่เข้าใจโดยง่ายว่า เส้นเอ็นข้อเข่าฉีกขาด คือเส้นเอ็นที่อยู่ภายในข้อเข่าเกาะอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ทำหน้าที่ให้ความมั่นคงแก่ข้อเข่าในทิศทางการเคลื่อนที่ของกระดูกหน้าแข้งมาด้านหน้า และให้ความมั่นคงของข้อเข่าในด้านการหมุน

โดยลักษณะของอาการเส้นเอ็นแกนเข่าไขว้หน้าฉีกขาดจะมีอาการปวดและบวมที่ข้อเข่าทันที ถ้าปล่อยไว้อาการปวดบวมมักลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่เมื่อกลับไปเล่นกีฬาก็จะรู้สึกว่าเข่าไม่มั่นคง และมักมีอาการปวดเข่าตามมาอีก นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วม อาทิ งอเข่าไม่ลง ปวดตามข้อ และรู้สึกเดินไม่สบายเหมือนก่อน หากไม่ได้ทำการรักษา ฝืนเล่นกีฬาต่ออาจเสี่ยงมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หมอนรองเข่าฉีกขาด กระดูกช้ำ หรือเอ็นข้างเข่าฉีกขาด เป็นต้น

ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด พบได้บ่อยในกลุ่มกีฬาที่มีการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่นฟุตบอล, บาสเกตบอล โดยมักพบว่า เกิดจากการบิดหมุนของข้อเข่าขณะที่เท้ายึดอยู่กับพื้น การปะทะหรือกระแทกระหว่างการเล่นกีฬาโดยมีแรงกระทำที่เข่าโดยตรง เข่ามักจะอยู่ในท่าเหยียดตรง หรือแอ่นจากอุบัติเหตุลื่นเข่าบิด, รถจักรยานยนต์ หรืออุบัติเหตุอื่นๆ

ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม และการดำเนินชีวิตที่ส่งผลเสี่ยงเส้นเอ็นข้อเข่าฉีกขาด ได้แก่

1. นักกีฬาหรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงกว่าคนปกติ 3.2-3.5 เท่า

2. การประกอบอาชีพที่มีการเดินหรือวิ่งบ่อยๆ เช่น นักกีฬา คนงาน พยาบาล พนักงานบริการ เป็นต้น

3. พื้นหรือสภาพสนาม มีความเหมาะสมหรือไม่ เช่น ลื่นเกินไป เป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระหรือไม่ โดยการบาดเจ็บมักเกิดขึ้นในพื้นหญ้าเทียมมากกว่าหญ้าธรรมชาติ

4. พื้นผิวของรองเท้าที่มีคุณสมบัติยึดเกาะพื้นในการบิดหมุนสูง ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากที่สุด

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสงสัยว่า เส้นเอ็นข้อเข่าฉีกขาด

ในระยะเฉียบพลันหลังจากได้รับอุบัติเหตุใหม่ๆ จะมีอาการปวดบวมของข้อเข่าเนื่องจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาดจะทำให้มีเลือดออกภายในข้อเข่า สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอันดับแรกคือ หยุดการใช้งานการออกกำลังหรือการมีกิจกรรมขณะนั้นทันที ไม่ควรฝืนใช้งานต่อ เพราะเวลาฝืนใช้งานจะทำให้มีเลือดออกมีการอักเสบรวมทั้งมีอาการบวมปวดของเข่าที่เพิ่มมากขึ้น หรืออาจได้รับอุบัติเหตุที่หมอนรองกระดูกและกระดูกอ่อน ที่อยู่ภายในเข่าที่มากขึ้นไปอีก ต่อจากนั้น แนะนำให้นอนพัก และเหยียดเข่าข้างที่ได้รับอุบัติเหตุออกมาเท่าที่ทำได้และยกขาสูงโดยอาจหาผ้านุ่มๆ มารองบริเวณใต้ขาชั่วคราว และให้ประคบเย็นโดยใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติก หรือใช้เจลเย็นสำหรับประคบเพื่อลดอาการบวมที่เข่า หลังจากนั้นควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และรับการรักษาต่อไป

ก่อนเล่นกีฬาชนิดต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เราควรสำรวจตัวเองก่อนว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ และเพื่อเราจะได้เล่นกีฬาที่เรารักได้อย่างไร้การบาดเจ็บไปนานๆ นะค่ะ

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : เส้นเอ็นขาดง่าย ถ้าไม่ระวัง  สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility