แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

เมื่อกล้ามเนื้อกระตุกเอง – โรงพยาบาลราชวิถี

เมื่อกล้ามเนื้อกระตุกเอง

  • -

เมื่อกล้ามเนื้อกระตุกเอง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้ามเนื้อกระตุก

            อาการกระตุกขณะนอนหลับ   เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อเป็นระยะในขณะนอนหลับ  ซึ่งอาจมีระดับความรุนแรงที่มากน้อยแตกต่างกัน  เช่น  บางคนมีอาการกระดิกนิ้วหัวแม่เท้า  กระดิกเท้า  หรือกระดิกนิ้วมือเป็นระยะ ๆ   บางคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นเตะถีบ  ฟาดแขนฟาดขา  หรือแม้กระทั่งกระตุกทั้งตัว  ซึ่งอาการกระตุกทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วผู้ที่กระตุกอาจจะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็ได้  แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้สึกตัว  โดยมักจะตื่นเพียงเล็กน้อยแล้วนอนหลับต่อ  ซึ่งหากมีอาการกระตุกรุนแรง  และบ่อยครั้ง  ก็อาจส่งผลทำให้รู้สึกนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอในตอนเช้าและง่วงในเวลากลางวันได้

               ส่วนสาเหตุของอาการกระตุกขณะหลับนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด  แต่ส่วนใหญ่มักสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความเครียด  ความวิตกกังวลก่อนการนอนหลับ  การอดนอน  และเกิดจากโรคบางชนิด  เช่น  เบาหวาน  ไต  โรคเส้นเลือดในสมองตีบ  หรือการได้รับยาบรรเทาอาการซึมเศร้า  นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานว่าอาการกระตุกขณะนอนหลับอาจเกิดจากปฏิกิริยาที่สับสนของสมอง  โดยเมื่อร่างเข้าสู่ภาวะนอนหลับ  ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายก็เริ่มปรับตัวทำงานน้อยลง  เช่น  หัวใจเต้นช้าลง  หายใจช้าลง  กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ก็ปรับตัวสู่การทำงานที่ช้าลงเช่นกัน  โดยกล้ามเนื้อจะได้รับสัญญาณจากสมองเพื่อให้คลายตัวลงพร้อม ๆ กัน  เพื่อเตรียมพร้อมสู่การนอนหลับ

               แต่ในบางครั้ง  เมื่อกล้ามเนื้อได้รับสัญญาณให้คลายตัวลงพร้อม ๆ กัน  อาจทำให้สมองเกิดความสับสนว่าเราตกจากที่สูงลงมาหรือไม่  เนื่องจากไม่มีการทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อให้ร่างกายยืน นอน นั่ง  สมองจึงตอบสนองด้วยการให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวและกระตุกอย่างรวดเร็ว  ในบางครั้งสมองจึงอาจสร้างความรู้สึกคล้ายกับว่าเราตกจากที่สูงร่วมด้วยนั่นเอง

               อาการกระตุกขณะนอนหลับนับเป็นปัญหาในการหลับอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย  โดยเฉพาะผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป   เมื่อมีอายุมากขึ้นก็พบว่ามักมีอาการกระตุกขณะหลับมากขึ้น   นอกจากนี้อาการกระตุกขณะหลับยังสามารถเกิดขึ้นกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย

               อาการกระตุกขณะนอนหลับนั้น  สามารถพบได้ในอวัยวะหลายส่วน  แต่พบบ่อยได้ที่บริเวณขา  จนมีชื่อเรียกเฉพาะว่า  โรคภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (Periodic limb movement disorder:PLMD)  คือจะมีอาการขากระตุกเป็นพัก ๆ ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง  มักเกิดขึ้นทุก ๆ 20-90 นาที และผู้ที่กระตุกจะไม่รู้สึกตัวเพราะเกิดในช่วงสั้นมาก

               นอกจากนี้ยังมีโรคซึ่งมีลักษณะของกลุ่มอาการคล้ายกับโรคภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (PLMD)  คือ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome:RLS)  คือผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนว่ามีอะไรคลาน  ไต่  หรือกวนอยู่ที่ขา  เช่น  รู้สึกว่ามีแมลงหรือหนอนไต่อยู่ที่ขา  หรือรู้สึกว่าบางสิ่งคืบคลานอยู่ในกล้ามเนื้อขา  ทำให้รู้สึกต้องขยับขาอยู่บ่อย ๆ  และมักเป็นในเวลาเข้านอน  ซึ่งเกือบทั้งหมดของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการกระตุกของขาขณะนอนหลับ  ซึ่งต่างจากโรค PLMD ที่จะกระตุกขาขณะนอนหลับ แต่ไม่ได้รู้สึกมีอะไรมาไต่ขา  หรืออยากจะขยับขา

               การรักษาอาการกระตุกขณะนอนหลับนั้น  หากรู้สาเหตุที่แน่ชัดสามารถทำได้โดยรักษาที่สาเหตุของโรคนั้น  แต่ถ้าไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด  หรือมีอาการกระตุกอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ  อาจรักษาได้โดยรับประทานยา  เพื่อช่วยลดอาการกระตุกและทำให้สามารถนอนหลับพักผ่อนได้ดียิ่งขึ้น

               เมื่อเรารู้จักที่มาที่ไปและลักษณะอาการของโรคแล้ว  ก็อย่าลืมพยายามหมั่นสังเกตอาการนอนของตัวเอง  เพื่อที่เราจะได้รู้จักตัวเองได้ดียิ่งขึ้น  และสามารถป้องกันและรักษาอาการโรคได้อย่างทันท่วงทีด้วยค่ะ

ที่มา: เว็บไซต์ vcharkarn

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility