แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

รู้จัก `โรคเฮอร์แปงไจน่า` – โรงพยาบาลราชวิถี

รู้จัก `โรคเฮอร์แปงไจน่า`

  • -

รู้จัก `โรคเฮอร์แปงไจน่า`

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โรคเฮอร์แปงไจน่า

       โรคระบาดที่ติดต่อกันในสังคมไทยมีอยู่หลายโรคด้วยกัน บางโรคก็เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่ยังมีอีกหลายโรคที่หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นเคยอย่างเช่น “โรคเฮอร์แปงไจน่า” ถือเป็นโรคระบาด ที่ทุกคนควรทำความรู้จัก เพื่อหาแนวทางในการรักษาและป้องกันการเกิดโรค

          โรคเฮอร์แปงไจน่า เป็นโรคที่ติดเชื้อจากไวรัสชนิดเดียวกันกับมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็น กลุ่มของ เอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) แต่มีอาการที่แตกต่างกันคือจะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น ขณะที่มือ เท้า ปาก นอกจากจะมีแผลที่ปากแล้วจะมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำมูก ไอ จาม ลักษณะอาการจะมีไข้สูงประมาณ 39.5-40 องศาเซลเซียส และมีแผลในช่องปากบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง แต่ถ้าเป็นมือ เท้า ปาก ไข้จะไม่สูง และมีแผลกระจายอยู่ทั่วปาก รวมทั้งมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย

          การติดต่อเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสหรือรับประทานสิ่งที่ปนเปือนกับเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ โรคเฮอร์แปงไจน่าพบได้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี เนื่องจากเด็กมักยังไม่มีภูมิต้านทานของเชื้อนี้ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันในโรงเรียนอนุบาล หรือสถานเลี้ยงเด็ก เพราะเด็กมักเล่นของเล่นร่วมกัน หยิบจับสิ่งของร่วมกัน จึงมีโอกาสติดต่อได้ง่าย โดยเชื้อนี้จะอยู่ได้นานในอากาศเย็นและชื้น จึงมักระบาดมากในฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ตลอดทั้งปี

          โดยทั่วไปแล้วโรคเฮอร์แปงไจน่ามักจะมีอาการไม่รุนแรง ยกเว้นไข้สูง แต่ก็ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้จากโรคนี้ เช่น การอักเสบของก้านสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้น้อย

          สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ สามารถรับประทานอาหารได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเด็กคนไหนมีอาการเจ็บในปากมาก ไม่ยอมรับประทาน หรือไม่ยอมกลืนอาหาร ควรหาของอ่อนๆ ให้เด็กรับประทาน หรือในบางครั้งให้รับประทานอาหารประเภทน้ำหรือนมเย็นๆ หรือไอศกรีมก็ได้ ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น การรักษาจึงให้การรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ และยาชาทาแผลในปาก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ โดยทั่วไปสามารถหายได้เอง เพียงแต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนดังที่ได้กล่าวไป ถ้าหากเด็กรับประทานอาหารไม่ได้ หายใจหอบ มีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือชัก ควรรีบมาพบแพทย์

          การป้องกันโรคทำได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่ไม่สบาย รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งด้วยน้ำและสบู่ หากลูกหลานไม่สบายควรให้หยุดเรียนเพื่อจะได้ลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์นิวร้อยแปด

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility