แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

เทคโนโลยีช่วยวินิจฉัย“วัณโรค”ดื้อยา – โรงพยาบาลราชวิถี

เทคโนโลยีช่วยวินิจฉัย“วัณโรค”ดื้อยา

  • -

เทคโนโลยีช่วยวินิจฉัย“วัณโรค”ดื้อยา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เทคโนโลยีช่วยวินิจฉัย

สธ.ร่วมญี่ปุ่นนำเทคโนโลยีพันธุศาสตร์การแพทย์ ช่วยวินิจฉัย “วัณโรค” เร็วขึ้น รู้ผลวัณโรคดื้อยาใน 2 วันจากเดิม 5 สัปดาห์ เผยญี่ปุ่นประกาศวัณโรคเป็นโรคติดต่อตามกฎหมาย ช่วยลดอุบัติการณ์เกิดโรคได้มากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 120,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 10,000 ราย และมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาอย่างน้อย 2,200 ราย สธ.ได้กำหนดให้การยุติวัณโรคเป็นเป้าหมายสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ปีละ 9,000 ราย โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและยาใหม่มาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการป้องกันและรักษาวัณโรค

โดยมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและ Riken Center for integrative Medical Sciences ในการวิจัยด้านวัณโรคภายใต้โครงการ SATREPS “Integrative human and pathogen genomic information for tuberculosis control” เพื่อนำเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์การแพทย์ มาใช้ตรวจหาลักษณะทางพันธุกรรมของคนและเชื้อวัณโรค ทำให้การวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น รู้ผลเชื้อวัณโรคดื้อยาได้ภายใน 2 วันจากเดิม 5 สัปดาห์ตามแบบมาตรฐานที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน สามารถเลือกใช้ยาและปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น และลดการเกิดผลข้างเคียงจากยาต้านวัณโรค

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าจากการเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ริเคน ตลอดจนได้ศึกษาดูงานการผลิต การควบคุมคุณภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัคซีนบีซีจีสำหรับป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในเด็ก ณ Japan BCG Laboratory ช่วยให้ลดอุบัติการณ์การเกิดผลข้างเคียงภายหลังการได้รับวัคซีน และศึกษาดูงานการควบคุมวัณโรค ณ Research Institute of Tuberculosis และ Fukujuji Hospital และแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการควบคุมการระบาดของวัณโรค

โดยเน้นการถ่ายภาพรังสีทรวงอก เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย เช่น ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเรื้อรัง นอกจากนี้ยังดูระบบหอดูแลผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ตลอดจนระบบบันทึกข้อมูลการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวัณโรค เก็บเป็นข้อมูลสำหรับการสอบสวนโรคต่อไป

“ประเทศญี่ปุ่นมาตรการสำคัญในการควบคุมวัณโรคคือ การกำหนดให้วัณโรคเป็นโรคติดต่อตามกฎหมาย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจนกว่าตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคในเสมหะ โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 2-3 เดือน ดังนั้นการมีระบบการรักษาที่ใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการควบคุมวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีมารองรับการตรววินิจฉัยและรักษาร่วมกับการบังคับมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นปัจจัยหลักทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลก

ที่ลดอุบัติการณ์วัณโรคอย่างรวดเร็วมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งการศึกษาและสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ริเคนในครั้งนี้ เป็นแนวทางสำคัญของประเทศไทยที่จะเอาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาใช้ในการพัฒนาการควบคุมวัณโรค ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถยุติปัญหาวัณโรคและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ในภาคพื้นอาเซียน” นพ.สุขุม กล่าว

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility