แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

เสริมมาตรการเข้มคุมเชื้อ“อีโบลา” – โรงพยาบาลราชวิถี

เสริมมาตรการเข้มคุมเชื้อ“อีโบลา”

  • -

เสริมมาตรการเข้มคุมเชื้อ“อีโบลา”

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ผ้าปิดจมูก

         “กระทรวงสาธารณสุข” เผยประเทศไทยดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลามาอย่างต่อเนื่อง มีระบบรองรับทั้งการตรวจ การกักตัวเพื่อรักษา รวมทั้งการสอบสวนโรค โดยเน้นเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โรงพยาบาล และในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบผู้เดินทางติดเชื้อไวรัสอีโบลา

         นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวองค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DR Congo) นั้น กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขระหว่างประเทศ และยังไม่ได้ประกาศห้ามการเดินทางไปยังประเทศที่พบการระบาด ส่วนพื้นที่ที่รายงานก็อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล

          ในส่วนของประเทศไทยยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามระบบที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ 1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2.โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และ 3.ในระดับชุมชน โดยเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในทุกๆ ช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่ด่านสนามบิน ด่านท่าเรือและด่านชายแดน และติดตามอาการจนครบ 21 วันตามมาตรฐานที่กำหนด หากมีไข้จะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และจะติดตามอาการผู้สัมผัสทุกคน

          นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางการรักษา พร้อมทั้งจัดหาชุดพร้อมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และในพื้นที่ และสนับสนุนให้โรงพยาบาลที่มีห้องแยกโรคให้สามารถดูแลผู้ป่วยโดยปฏิบัติตามแนวทางการวินิจฉัยดูแลรักษาและควบคุมป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงจัดทำคู่มือทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไปและการเก็บตัวอย่าง เพื่อส่งตรวจหาการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบผู้เดินทางติดเชื้อไวรัสอีโบลา

          นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกรายจะต้องมารายงานตัว และตรวจวัดไข้ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศ ซึ่งหากพบผู้ที่สงสัยก็จะมีระบบรองรับทั้งการตรวจ การกักตัวเพื่อรักษา รวมทั้งการสอบสวนโรค ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  ซึ่งเป็นโรคที่ต้องรายงานเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากหลีกเลี่ยงไม่รายงานจะมีโทษตามกฏหมาย

           คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย 2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิงหรือค้างคาวหรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร ส่วนอาการสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาได้แก่ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility