แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

แนะใช้เทคนิคใกล้ตัว “ไล่ความเครียด” – โรงพยาบาลราชวิถี

แนะใช้เทคนิคใกล้ตัว “ไล่ความเครียด”

  • -

แนะใช้เทคนิคใกล้ตัว “ไล่ความเครียด”

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

        กรมสุขภาพจิต แนะคนไทยใช้เทคนิคใกล้ตัว”ไล่ความเครียด  ระงับอารมณ์โกรธ”

          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร วิถีชีวิตที่เร่งรีบ ส่งผลให้ประชาชนทั้งเขตเมืองและชนบทเผชิญกับอารมณ์ความเครียด อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทำให้เกิดความคับข้องใจ กดดัน บีบคั้น อาการจะ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความสามารถในการปรับตัว ของแต่ละคน หากมีความเครียดในระดับไม่มากนัก จะเป็นผลดีโดยเป็น แรงกระตุ้นให้เกิดมุมานะ เอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ แต่หากมีในระดับสูงเป็นเวลานาน จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ มีผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติและระบบต่อมไร้ท่อในร่างกายทำงานมากขึ้น ทำให้ผู้ที่เครียดมีอาการหัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตสูงขึ้น กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง หายใจถี่ขึ้น เหงื่อออก สมองมีนงง  ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ไม่มีสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ความเครียดจึงถือเป็นระบบเตือนภัยของร่างกายให้เตรียมพร้อมกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อให้พ้นจากความเครียด อาจนำมาสู่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาผิดพลาดได้ เช่น จี้ ปล้น ทำร้ายร่างกาย ฆ่าตัวตาย เป็นต้น

          การจัดการความเครียดมีหลายวิธี แต่ที่ใกล้ตัวที่สุดที่ประชาชนทุกวัยสามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดอาการคือ การฝึกการหายใจเพื่อคลายเครียด หายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยหายใจเข้าลึกๆ พร้อมนับ 1 ถึง 4 เป็นจังหวะช้าๆ จะรู้สึกว่าท้องพองออก จากนั้นจึงค่อยๆผ่อนลมหายใจออก โดยนับ 1 ถึง 8 ไล่ลมหายใจออกมาให้หมด สังเกตหน้าท้องจะแฟบ ขณะทำจะรู้สึกว่าได้ผลักดันความเครียดออกมาด้วยจนหมด

          ” ในภาวะปกติทั่วไป คนเราจะหายใจเข้า-ออกวันละประมาณ 16,000-23,000 ครั้ง แต่ละครั้งจะสูดก๊าซออกชิเจนซึ่งเป็นก๊าซชนิดดี นำไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายประมาณ 250 มิลลิลิตร และคาย ก๊าซเสียคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกประมาณ 200 มิลลิลิตร ก๊าซทั้ง 2 ชนิดนี้อยู่ในสภาวะสมดุล  เราจะรู้สึกเป็นปกติ  แต่เมื่อเกิดความเครียด เราจะหายใจถี่และตื้นขึ้นกว่าเดิม ทำให้ได้ก๊าซออกซิเจนน้อยกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อเราฝึกการหายใจให้ลึกและช้าขึ้น จึงทำให้ร่างกายได้รับ ก๊าซออกซิเจนมากขึ้น มีผลให้อัตราการเต้นหัวใจ และอัตราการหายใจ ลดลง ความดันโลหิตลดลง คลี่คลายความกังวลลง มีสมาธิ ใจเย็นขึ้น สมองแจ่มใส ความจำดีขึ้น คิดอ่านแก้ปัญหาได้ดีขี้นตามไปด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

          นอกจากนี้การฝึกการหายใจคลายเครียด ควรทำติดต่อกันประมาณ 4-5 ครั้งและควรฝึกทุกครั้งที่เครียด หรือเมื่อรู้สึกโกรธ รู้สึกไม่สบายใจ หรือ ทุกครั้งที่นึกได้  แต่ละวันควรฝึกหายใจให้ถูกวิธีประมาณ 40 ครั้ง แต่ไม่จำเป็นต้องทำคราวเดียว นอกจากนี้ประชาชนควรออกกำลังกายอย่างน้อย วันละ 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน จะทำให้ร่างกายหลั่งสาร แห่งความสุขออกมาก  จะรู้สึกสบาย นอนหลับดีขึ้น

          ทั้งนี้การคลี่คลายความเครียด ยังสามารถทำได้โดยปรึกษา ระบายปัญหาให้ผู้ที่ไว้วางใจ ก็จะช่วยได้  หรือหากทำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้เข้ารับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วน ของกรมสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ไม่แนะนำการซื้อยาคลายเครียดมากินเอง เนื่องจากจะเกิดความเสี่ยงต่อการติดยา และไม่ควรพึ่งสิ่งเสพติด เช่น เหล้า ยาเสพติด เพราะไม่สามารถช่วยคลี่คลายความเครียดได้ ที่สำคัญหากปล่อยความเครียดสะสมในจิตใจขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นภัยเงียบก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาทั้งโรคทางกายเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เกิดอาการทางจิตเช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า และส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น โมโหง่าย โกรธง่าย จู้จี้ขี้บ่น ความอดทนต่ำ เสี่ยงเกิดปัญหาทะเลาะวิวาท ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ที่ทำงานและสังคมด้วย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility