แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้ – โรงพยาบาลราชวิถี

ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้

  • -

ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้

มะเร็งเต้านมชายพบมากในชายสูงวัยมากกว่าชายวัยหนุ่ม แต่ก็มีผู้ชายที่มีแนวโน้มป่วยด้วยโรคนี้สูง

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย สถิติจากสถาบันมะเร็งบอกว่าผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 28.6 คนต่อประชากร 1 แสนคน และมีอัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน มะเร็งเต้านมในผู้ชายกลับมีการพูดถึงน้อยมาก

ข้อมูลในสหรัฐระบุว่า มะเร็งเต้านมในผู้ชายมีอัตราราวร้อยละ 1 ของมะเร็งเต้านมที่พบทั้งหมด คิดเป็นตัวเลขราว 2,500 คน จากจำนวนนี้พบว่ามีผู้เสียชีวิตราว 500 คนต่อปี

มะเร็งเต้านมชายพบมากในชายสูงวัยมากกว่าชายวัยหนุ่ม แต่ก็มีผู้ชายที่มีแนวโน้มป่วยด้วยโรคนี้สูงเช่น มีญาติพี่น้องผู้หญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม หรือมีความไวต่อการรับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือมีโครโมโซมเป็น XXY

มีข้อมูลว่าผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมราว 1 ใน 5 มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม และมียีน BRCA ซึ่งเป็นยีนที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมอยู่ในร่างกาย นอกจากนี้การบริโภคแอลกอฮอล์มาก หรือเป็นโรคอ้วน ก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้มะเร็งถามหาเช่นกัน

แม้ว่าสถิติของผู้ชายป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมจะน้อย แต่แพทย์ส่วนใหญ่ต่างระบุว่า ผู้ชายไม่ค่อยรู้ตัวและปล่อยให้มะเร็งลุกลามจนเกินขั้นรักษา ผู้หญิงส่วนใหญ่นิยมเข้ารับตรวจเต้านม (mammogram) ตอนอายุราว 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่เคยตรวจเต้านมเลยตลอดทั้งชีวิต เพราะคิดว่าโรคนี้ไม่มีทางเกิดกับตน

อาการเริ่มต้นที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือ เริ่มมีก้อนเนื้อที่หน้าอก เช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง แต่ผู้ชายมีเนื้อเยื่อหน้าอกน้อยกว่าทำให้สังเกตได้ยาก ผู้ชายส่วนใหญ่จะเริ่มรู้ว่าตนเองมีก้อนเนื้อก็ต่อเมื่อมะเร็งเริ่มลามไปถึงหัวนม หรือมีเลือดออกบริเวณหัวนม แต่ก็เป็นสัญญาณว่าอาการลุกลาม และก้อนเนื้อมะเร็งที่อยู่ในหน้าอก ก็อาจลุกลามไปยังระบบต่อมน้ำเหลืองเสียแล้ว

การรักษามะเร็งเต้านมชาย ไม่แตกต่างจากการรักษามะเร็งเต้านมของผู้หญิง ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและดุลพินิจของแพทย์ว่าจะต้องใช้วิธีการใด ได้แก่ การตัดเนื้อเยื่อหน้าอกออก การฉายแสง การทำคีโม หรือใช้ฮอร์โมนรักษาให้เนื้อมะเร็ง ซึ่งไวต่อฮอร์โมนเพศหญิงหายไป

คำแนะนำของแพทย์ส่วนใหญ่ในการป้องกันมะเร็งเต้านมชายคือ หมั่นตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละครั้ง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และรู้จักสังเกตร่างกายตัวเองด้วยการคลึงเต้านมเหมือนการตรวจเต้านมผู้หญิง ถึงแม้จะไม่เจอ แต่ถ้ารู้สึกว่าหน้าอกตนเองผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว และอย่าคิดว่าตนเองไม่น่าจะป่วยด้วยโรคแบบนี้ มิฉะนั้นอาจสายเกินแก้ได้

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึกออนไลน์

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility