แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

ความเสี่ยง…ที่มากับการตัด’แว่นสายตา’ – โรงพยาบาลราชวิถี

ความเสี่ยง…ที่มากับการตัด’แว่นสายตา’

  • -

ความเสี่ยง…ที่มากับการตัด’แว่นสายตา’

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แว่นสายตา

“เคยตัดแว่นมาหลายแห่ง ตั้งแต่ร้านตามห้าง ตามตลาดทั่วไป ปกติจะไม่ตัดแว่นในร้านที่ซ้ำๆ ชอบเปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ สมัยมัธยม ปีหนึ่งเปลี่ยน 4-5 ร้าน ตอนนี้พอขึ้นมหาวิทยาลัย เหลือแค่ร้านสองร้าน ผมเล่นบาสกระแทกกันแตกก็ต้องเปลี่ยน เคยเปลี่ยนบ่อยสุดเดือนหนึ่ง 4 ครั้ง ถ้าเป็นร้านดีๆ ก็จะถามเยอะ ค่าสายตาเดิม อาชีพที่ทำกับการใช้สายตา เล่นเกมแค่ไหน และจะแนะนำเลนส์ประเภทต่างๆ แต่ถ้าเป็นร้านเล็กก็จะถามแค่ว่าสั้นเท่าไหร่ แล้วก็ตัดให้เลย” ดิศรณ์ สังข์อ่อง นักศึกษามหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 เล่าประสบการณ์

          ดิศรณ์ สายตาสั้นมาตั้งแต่เด็ก เปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยจนจำจำนวนแว่นที่เคยใช้ไม่ได้ และไม่เคยวัดสายตากับผู้เชี่ยวชาญ โดยเลือกวัดสายตาตัดแว่นตามความสะดวกและตามกำลังเงิน สิ่งหนึ่งที่ดิศรณ์อาจไม่เคยใส่ใจเลยก่อนหน้านี้คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อสายตา แต่เขาก็สัมผัสได้ถึงความผิดปกติ เมื่อแว่นที่ตัดมาใหม่ ทำให้มีอาการเวียนหัว

          ดิศรณ์เป็นเพียงหนึ่งในคนไทยจำนวนหลายล้านคนที่มีปัญหาสายตา และแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือการตัดแว่นจากร้านหรือบริการที่สะดวกและราคาถูกที่สุด และส่วนใหญ่จบลงด้วยปัญหาเหมือนกัน นั่นคือการได้เลนส์แว่นตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาที่เปลี่ยนไป และไม่น้อยหาทางออกด้วยการเปลี่ยนร้านแว่นไปเรื่อยๆ

          จากการตรวจสอบจากกลุ่มคนทำงานที่มีปัญหาสายตากว่า 10 คน ถึงการเลือกร้านแว่น ก็ได้ข้อมูลแทบไม่ต่างกัน คือ เลือกร้านที่สะดวกในห้างสรรพสินค้า ร้านขนาดใหญ่ ที่มีหลายสาขา เพราะน่าเชื่อถือ และบางครั้งก็เลือกเพราะโฆษณาคุ้นตาคุ้นหู มีโปรโมชั่นลดราคา ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นจะเน้นร้านที่มีกรอบแว่นแฟชั่นทันสมัยให้เลือกมากมาย และราคาไม่สูงมากนัก แต่พฤติกรรมที่ทั้งสองกลุ่มหมือนกัน คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปวัดสายตากับผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลเพื่อนำค่าสายตามาให้ร้านแว่นตัดเลนส์ให้ เพราะเชื่อว่า เครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ในแต่ละร้านคงมีประสิทธิภาพไม่ต่างกันนัก

          ความเชื่อเช่นนี้ทำให้หลายคนมีปัญหา หลังจากใช้แว่นใหม่ แล้วต้องปวดหัว เวียนหัว จนต้องกลับไปให้ทางร้านแก้ไข วัดสายตาให้ใหม่

          “เคยเจอปัญหาลูกค้าที่มาตัดแว่นแล้วกลับมาตัดใหม่ก็มี หากมีกรณีผิดพลาดเรื่องวัดค่าสายตาไม่ตรงเราก็คงต้องขอวัดดูใหม่ว่าผิดพลาดตรงไหน เราจะให้ค่าน้อยเกินไปหรือโอเวอร์เกินไปไหม ก็มีส่วน ถ้าลูกค้าใส่แล้วปวดหัว เคสที่ร้านไม่เยอะ ที่พลาดก็มีบ้างแต่ไม่มาก” ปธิกร สุทาวัน เจ้าของกิจการร้านแว่นที่มีประสบการณ์ทำงานในร้านแว่นขนาดใหญ่มานาน 20 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านของตัวเองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีลูกค้าบางส่วนที่ตัดแว่นไปพอนำไปใส่แล้วปวดหัวจนต้องกลับมาให้ช่วยแก้ไข ขณะที่เจ้าของร้านขายแว่นสายตารายหนึ่งได้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์พันทิป ยอมรับว่า การตัดแว่นให้ลูกค้าตามค่าเครื่อง แม้จะเป็นเครื่องทันสมัย ราคาแพง แต่ก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

          “ที่บ้านขายแว่นสายตา ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์วัดอย่างเดียว แล้วตัดให้ลูกค้า ลูกค้าบ่นจนต้องตัดใหม่ให้ทุกคนเพราะลูกค้าใส่ไม่ได้ เวียนหัว ใช้เครื่องวัดคอมพ์ ต้องอาศัยแสงที่พอดีในการวัด หากมากหรือน้อยกว่าก็จะทำให้ค่าเคลื่อนได้ ซื้อมาตั้งหลายบาท คิดว่าจะโอเค สุดท้ายก็ต้องใช้เครื่องวัดเดิม”

          ขณะที่ลูกค้าร้านแว่นบางรายถึงกับทดลองไปวัดสายตาตามร้านแว่น 3 ร้าน และผลปรากฏว่า ค่าสายตาทั้ง 3 ครั้งก็ไม่เท่ากัน เครื่องวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Auto Refractor ตามร้านค้าแว่นตา เริ่มมีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2521 หรือ 39 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อใช้วัดสายตา โดยการให้ค่าสายตาเป็นตัวเลขสำเร็จรูปเพื่อให้แสงสามารถผ่านเข้าไปในลูกตา ไปยัง Fovea หรือจุดศูนย์กลางการเห็นได้

          ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุถึง ข้อดีของเครื่องมือนี้คือใช้งานง่าย ทำให้ได้ค่าสายตารวดเร็ว แต่ข้อเสียคือค่าที่ได้จากเครื่องมือนี้อาจไม่ตรงกับความจริง ความน่าเชื่อถือประมาณ 80% ส่วนกลุ่มที่ไม่ควรใช้เครื่องวัดสายตานี้คือเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ เพราะความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่า 50%

          รวมไปถึงคนที่มีปัญหาการเพ่ง การปรับโฟกัส เพราะมักได้ค่าสายตาที่ไม่ถูกต้อง ส่วนมากแล้วจะสั้นกว่าปกติ ผู้ที่มีปัญหาตาเข โรคตาที่แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ตามปกติ เช่น หนังตาตก ต้อกระจก จะมีโอกาสเกิดค่าสายตาเอียง ทั้งที่ไม่มีตาเอียง หรืออาจมีค่าสายตาเอียงมากเกินจริง สำหรับคนอายุ 40 ขึ้นไป ที่เริ่มสายตายาว เครื่องพวกนี้ก็ไม่สามารถบอกค่าสายตา สำหรับการดูหนังสือหรือทำงานระยะใกล้ได้ การวัดสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ยังไม่สามารถแสดงถึงอาการของโรคตา ไม่บ่งชี้ถึงความสามารถในการมองเห็นและคุณภาพการมองเห็น

          จึงอาจสรุปได้ว่าค่าสายตาที่ได้จากเครื่องวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันในปัจจุบันอย่างเดียวนั้น ไม่อาจเชื่อถือได้ เพราะเป็นเพียงค่าสายตาเบื้องต้น จึงไม่เหมาะนำไปใช้ประกอบแว่นสายตาเพราะอาจก่อให้เกิดอาการเวียนหัว ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มองไม่ชัดในบางระยะ เห็นภาพซ้อน อาจทำให้ผู้ใช้เสี่ยงประสบอุบัติเหตุได้

          “การวัดสายตาต้องใช้ความรู้ความชำนาญ ไม่ใช่แค่ใช้เครื่อง เดี๋ยวนี้มีเครื่องอัตโนมัติ พอเข้าไปนั่งผลที่ออกมาตรงบ้างไม่ตรงบ้าง เครื่องวัดสายตาอัตโนมัติใช้ได้และมีความแม่นยำอยู่ในระดับสูง แต่บางครั้งในขณะที่วัดอาจมีการเพ่ง ซึ่งกำลังที่เพ่งอาจทำให้เครื่องอ่านผลไม่ตรง บางครั้งต้องมี manual ร่วมด้วย การใช้เครื่องวัดอย่างเดียว มีโอกาสผิดพลาด และทำให้บางทีคนไข้ได้แว่นไม่ชัด และบางครั้งก็มีอาการปวดศีรษะ ปวดตาได้ ปัจจุบันร้านแว่นเปิดสาขากันมากมาย แล้วบางครั้งก็คิดว่าซื้อเครื่องมาก็สามารถวัดได้ ซึ่งมันไม่ใช่ ยกเว้นกลุ่มที่มีความชำนาญ ที่ทำมานาน ซึ่งก็มีอยู่พอสมควร” นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายการทำงานของเครื่องวัดสายตาว่า เป็นแค่ไกด์ไลน์ แต่สำคัญคือต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องวัดสายตาก็เป็นเครื่องมือแพทย์อย่างหนึ่ง เนื่องจากใช้ในการประกอบวิชาชีพ ทัศนมาตร

          สถานการณ์ปัญหาสายตาของคนไทยจากงานวิจัยทางจักษุสาธารณสุขในปี 2554 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยส่งผลให้ความเสี่ยงทางด้านสายตาและสุขภาพตาเพิ่มมากขึ้น และจากลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการใช้สายตากับอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงเกิดปัญหาสายตาล้าเนื่องจากอุปกรณ์ดิจิทัล หรือ Digital Eye Strain ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมยุคไทยแลนด์ 4.0

          โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพภายใต้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดกรองสายตาผิดปกติในนักเรียนทั่วประเทศ มีรายงานผลสำรวจสายตาเด็กไทยอายุ 3-12 ปี ในช่วงปี 2554-2555 พบเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติถึง 6.6%

          ปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีเด็กที่สายตาผิดปกติ ราวๆ 5.7 แสนคน โดยจำนวน 3.5 แสนคน จำเป็นต้องใส่แว่น และมีเด็กที่ตัดแว่นแล้ว 8 หมื่นคน แต่มีจำนวนที่ใส่แว่นถูกต้องกับค่าสายตาประมาณ 2 หมื่นคน ดังนั้นจึงมีเด็กมากกว่า 3 แสนคนที่จำเป็นต้องใส่แว่น และหากเด็กกลุ่มนี้ยังตัดแว่นไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ หรือตาเหล่

          ขณะที่ผลศึกษาขององค์การอนามัยโลก สภาทัศนมาตรศาสตร์โลก และองค์การเพื่อป้องกันอาการตาบอดสากล คาดการณ์ว่า ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย จะมีประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลทางด้านสายตาและสุขอนามัยของระบบการมองเห็นไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาอย่างถูกต้องและมีคุณภาพ เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

          จาก นักทัศนมาตร ถึง หมอตา

          สถานการณ์ที่ต้องป้องกันแก้ไขกลับสวนทางกับจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาที่มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนคนที่มีปัญหาสายตา โดยเฉพาะนักทัศนมาตร ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาสายตาและทำงานร่วมกับจักษุแพทย์  “นักทัศนมาตร จะเป็นด่านหน้าเพื่อคัดกรองก่อนถึงมือจักษุแพทย์ ถ้าเป็นปัญหาสายตาก็สามารถจัดการแก้ไข โดยการใช้เลนส์สายตา คอนแทคเลนส์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหาสายตาได้เลย แต่ถ้าเป็นปัญหาโรคตา ก็ต้องเป็นจักษุแพทย์รักษา หลังจากมีภาวะดีขึ้น นักทัศนมาตรก็จะมีบทบาทในการฟื้นฟูเพื่อให้กลับมาใช้สายตาได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด” ดนัย ตันเกิดมงคล คณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง อธิบาย

          ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า

          ปัจจุบันจำนวนร้านแว่นตาในประเทศที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ 5,000 ร้าน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขที่แท้จริงมีมากกว่า 7,000 ร้าน ขณะที่มีนักทัศนมาตรที่ขึ้นทะเบียนเป็น ผู้ประกอบโรคศิลปะ เพียงแค่ 172 คน และจำนวนที่ผลิตได้ในแต่ละปีประมาณ 70-80 คน และ

          ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีนักทัศนมาตรที่จบจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ รามคำแหง รังสิต และนเรศวร รวม 656 คน แต่ก็ไม่เพียงพอต่ออัตราส่วนประชากรของประเทศ

          ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานทางสาธารณสุขไว้ว่า จะต้องมีนักทัศนมาตรอย่างน้อย 1 คนต่อประชากร 6 พันคน ขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน ควรมีนักทัศนมาตรไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน

          จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องให้ “ช่างแว่นตา” ยังทำอาชีพนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ โดยผ่อนปรนด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ต่ออายุหนังสืออนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ พ.ศ.2550 ไปจนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ ซึ่งช่างแว่นตาเหล่านี้มีทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ที่ได้รับการฝึกฝน สืบทอดอาชีพจากบรรพบุรุษต่อๆ กันมา

          และปัจจุบันมีการอบรมตามหลักสูตรวิชาชีพ เทคนิคช่างแว่นตาระยะสั้น เช่น สมาคมส่งเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย สมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ไทยชมรมผู้ประกอบอาชีพแว่นตา โดยค่าใช้จ่ายเริ่มต้นตั้งแต่ 2.5 หมื่นบาท เพื่อออกมาประกอบอาชีพ ทั้งเป็นลูกจ้างและเป็นเจ้าของกิจการเอง

          ทุกวันนี้การเป็นเจ้าของร้านแว่นตาไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพียงแค่มีเงินลงทุนซื้อกรอบแว่นและเครื่องวัดสายตาก็ทำได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีที่ตั้งแน่ชัด แค่เช่าที่ตามตลาดนัดก็สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบแว่นสายตาตามมาตรฐานสากลที่กำหนดให้ต้องมีบุคลากรเฉพาะทางด้านสายตาเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาทัศนมาตร เป็นผู้ควบคุมดูแล

          ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ที่กำหนดให้สาขาทัศนมาตรเป็นสาขาในการประกอบโรคศิลปะของไทยยังค้างอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะผลักดันให้กฎหมายควบคุมคุณภาพร้านแว่นรวมทั้งช่างแว่นตาที่จะต้องเข้ารับการอบรมให้ผ่านมาตรฐาน

          “เราเตรียมการกันมาแล้ว 7-8 ปี หวังว่าใน 3 ปีกฎหมายน่าจะออก อย่างน้อยก็จะต้องมีบทเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจจะยืดให้ 5-10 ปี ก็ต้องเข้ามาอบรม เดี๋ยวนี้สมาคมแว่นตา ชมรมต่างๆ ก็มีผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเป็นนักทัศนมาตร อาจจะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดอบรมเฉพาะกลุ่มที่ทำอยู่เดิม ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะดูแลเรื่องของการประกอบโรคศิลปะ

          เพราะหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับแล้ว การจะเปิดร้านแว่นใหม่ต้องมีนักทัศนมาตรประจำ และนักศึกษาสาขานี้ที่ต้องเรียน 6 ปี ก็มีจบออกมาบ้างแล้ว ในช่วงเริ่มต้นเชื่อว่าจะมีจำนวนของนักทัศนมาตรในระบบเพียงพอและสอดคล้องกับระยะเวลาที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้” นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ

          ความจริงในสังคม ที่ร้านขายแว่นยังคงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในทุกชุมชน รถเร่ขายแว่นราคาไม่กี่ร้อยบาท เข้าถึงทุกตรอกซอกซอยทั่วประเทศ และนั่นคือตัวเลขธุรกิจมหาศาล นี่จึงเป็นความท้าทาย “กฎหมายใหม่” ที่พยายามผลักดันกันมาหลายปี…ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขณะที่เรายังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ในขั้นวิกฤติ และธุรกิจร้านแว่นรายใหญ่ รายย่อย ก็ยังขยายตัวไม่หยุด…ผู้ที่รับความเสี่ยงก็คือประชาชน

          “จากลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการใช้สายตากับอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงเกิดปัญหาสายตาล้าเนื่องจากอุปกรณ์ดิจิทัล หรือ Digital Eye Strain ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมยุค ไทยแลนด์ 4.0”

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility