แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

“โรคลีเจียนแนร์” โรคที่มากับแอร์ – โรงพยาบาลราชวิถี

“โรคลีเจียนแนร์” โรคที่มากับแอร์

  • -

“โรคลีเจียนแนร์” โรคที่มากับแอร์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แอร์บ้าน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยโรคลีเจียนแนร์ ไม่ใช่โรคใหม่ ประเทศไทยมีรายงานพบประปราย โรคนี้สามารถรักษาได้และไม่ติดต่อจากคนสู่คน ล่าสุดในไทยพบผู้ป่วยโรคนี้เพียง 2 รายเมื่อปี 2558 แนะสถานประกอบการตรวจสอบระดับคลอรีนตกค้างของน้ำในบ่อพักทุกวัน และหมั่นดูแลทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ 

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคลีเจียนแนร์ ไม่ใช่โรคใหม่ สามารถพบได้ทั่วโลกทั้งเขตร้อนและเขตหนาว  มีเชื้อลีจิโอเนลลา(Legionella) เป็นเชื้อก่อโรค โดยเชื้อจะปนเปื้อนมากับละอองน้ำและเข้าสู่ทางเดินหายใจ เชื้อชนิดนี้มักพบในบริเวณที่มีน้ำขังนิ่ง มีความชื้นสูงและมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่มักจะพบในระบบเครื่องปรับอากาศหรือถังเก็บน้ำระบายความร้อน ที่ใช้ในอาคารขนาดใหญ่โดยเฉพาะในโรงแรม นอกจากนี้ ยังสามารถพบได้ในก๊อกน้ำ เครื่องทำน้ำร้อน และฝักบัวอาบน้ำที่ไม่มีการดูแลรักษาความสะอาดอย่างถูกต้อง

จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในประเทศไทยมีรายงานพบโรคนี้ประปราย ล่าสุดพบผู้ป่วยโรคนี้ จำนวน 2 ราย ในปี 2558 โดยผู้ป่วยเป็นชาวต่างชาติที่มีประวัติพักโรงแรมเดียวกัน ซึ่งผลการตรวจวัดระดับคลอรีนตกค้างในน้ำใช้ของโรงแรมดังกล่าวมีระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงมีระดับความร้อนในน้ำร้อนต่ำกว่ามาตรฐานด้วย

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โรคนี้สามารถรักษาได้และโดยปกติทั่วไปโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน  ประชาชนทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรงจะไม่มีอาการป่วยใดๆ สำหรับกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำและผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง  อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุชาวไทยไม่ค่อยมีการเดินทางท่องเที่ยวและพักค้างในโรงแรม โอกาสได้รับเชื้อและเจ็บป่วยจึงมีน้อย ที่สำคัญโรงแรมส่วนใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งมีมาตรการในการควบคุมเชื้อก่อโรคลีเจียนแนร์ตามมาตรฐานที่กำหนดตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข และกรมควบคุมโรคก็ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำมาตรการในการป้องกันโรคลีเจียนแนร์ โดยขอความร่วมมือจากสถานประกอบการ ดังนี้ 1.ตรวจสอบระดับคลอรีนตกค้างของน้ำในบ่อพักทุกวันต้องไม่น้อยกว่า 0.2 ppm. 2.ตรวจสอบน้ำในระบบน้ำร้อนรวมต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และน้ำที่ส่งออกต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส 3.ระบบปรับอากาศให้ใช้คลอรีนเข้มข้น 10 ppm.ในท่อที่ไปหอผึ่งเย็น 3-6 ชม.ให้ทั่วถึงทั้งระบบและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 1-2 สัปดาห์

4.ทำความสะอาดหัวก๊อกน้ำและแช่ฝักบัวด้วยสารละลายคลอรีนเข้มข้น 10 ppm. หรือแช่น้ำร้อน 65 องศาเซลเซียสนาน 5 นาที อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการก่อเชื้อโรคดังกล่าว ขอให้ดูแลและล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่บ้าน รวมถึงทำความสะอาดท่อหล่อเย็นหรือถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ อย่าให้มีน้ำขัง เปียกชื้น และควรทำให้แห้ง

ส่วนอาการป่วยจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คืออาการเบาจนถึงหนัก โดยอาการเบาจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน ในทางการแพทย์เรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) แต่หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต จะเรียกว่าโรคลีเจียนแนร์  ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวมีอาการเจ็บป่วยคล้ายกับอาการที่กล่าวมาหลังกลับจากท่องเที่ยว ขอให้นึกถึงโรคลีเจียนแนร์และให้ไปพบแพทย์ แจ้งประวัติให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็หายขาด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility