แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

“หมากเม่า” พืชท้องถิ่นกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน – โรงพยาบาลราชวิถี

“หมากเม่า” พืชท้องถิ่นกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

  • -

“หมากเม่า” พืชท้องถิ่นกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

 ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ หมากเม่า    

      “หมากเม่า” เป็นทรัพยากรชีวภาพประจำท้องถิ่นของ จ.สกลนคร พบได้มากบริเวณแถบเทือกเขาภูพานจนได้รับสมญานามว่าเป็น “ทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน” สามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายชนิด เช่น ไวน์หมากเม่า น้ำหมากเม่า เป็นต้น

          ดร.วิจารณ์  สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ได้ร่วมกับชุมชนใน จ.สกลนคร  ชมรมหมากเม่าสกลนคร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพหมากเม่าสกลนคร จนได้รับการรับรองว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI (Geographical Indication) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ  คือ  ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ  ชุมชนอาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา  ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณ์พิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณ์เฉพาะอื่นๆที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ เช่น น้ำหมากเม่าสกลนคร  ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสาคร ผ้าไหมยกดอกลำพูน  เป็นต้น

          ด้านนายคนพ วรรณวงศ์ เจ้าของสวนวรรณวงศ์  ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร กล่าวว่า สวนวรรณวงศ์เปรียบเป็นแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพหมากเม่าสกลนคร เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสายพันธุ์หมากเม่า  ประโยชน์ของหมากเม่าแต่ละสายพันธุ์ ให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไป เกษตรกรผู้สนใจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐได้เรียนรู้เรื่องของหมากเม่า

          “หมากเม่าเป็นพืชที่อยู่ในท้องถิ่นนี้อยู่แล้ว ถือว่าที่ ต.สร้างค้อ มีมากที่สุดจึงกลายเป็นพืชประจำถิ่น ได้ร่วมกับราชมงคล BEDO ให้การสนับสนุนรวบรวมพันธุ์หมากเม่ามาไว้ที่นี่ กว่า 26 สายพันธุ์ แต่ที่เด่นๆมี 6สายพันธุ์ ได้แก่ ฟ้าประธาน สร้างค้อ 1 สร้างค้อ 2 ภูพานทอง คำไหล และ ภูโซง ซึ่งเป็นตัวหลักในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำหมากเม่า ไวน์ แยม คุ้กกี้ ชา สบู่ เป็นต้น” เจ้าของสวนวรรณวงศ์ กล่าว

          การเข้ามามีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่จากภาวะเศรษฐกิจพืชตกต่ำมีกระแสต้องการปลูกหมากเม่าสูงมาก เพื่อที่จะสร้างรายได้เนื่องจากมีมูลค่าสูง เมื่อเทียบกับพืชชนิดต่างๆ การให้ความส่งเสริมจากกลุ่มผู้นำชุมชนในด้านงบประมาณ ทางจังหวัดผลักดันให้หมากเม่าเป็นที่รู้จัก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ในอนาคตทิศทางของหมากเม่ามีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะแปรรูปได้หลากหลายและเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพราะผลหมากเม่ามีสารต้านมะเร็งแอนโทไซยานิน โดยปัจจุบันยังส่งขายแค่ภายในประเทศ แต่เร็วๆนี้กำลังขยายตลาดไปยังประเทศพม่าและเวียดนาม

ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility