แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

ใช้ยาหยอดตาอย่างไร ให้ปลอดภัย – โรงพยาบาลราชวิถี

ใช้ยาหยอดตาอย่างไร ให้ปลอดภัย

  • -

ใช้ยาหยอดตาอย่างไร ให้ปลอดภัย

ใช้ยาหยอดตาอย่างไรให้ปลอดภัย thaihealth

การใช้ยาหยอดตาให้ปลอดภัย ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับยาหยอดตาที่ใช้บ่อย ซึ่งมี 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มยาสเตียรอยด์ ใช้เพื่อลดการอักเสบ ในกรณีที่ใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้ความดันตาสูงและเกิดเป็นต้อหินได้ จึงควรได้รับการตรวจวัดความดันตาอย่างสม่ำเสมอ และหากนำไปใช้หยอดผิดประเภท เช่น นำไปหยอดในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ อาจทำให้การติดเชื้อแย่ลงได้ โดยเฉพาะเชื้อราและเชื้อเริม นอกจากนี้ยังทำให้การกำจัดเชื้อทำได้ยากขึ้นเช่นกัน

กลุ่มยาแก้แพ้ ยากลุ่มนี้ใช้เพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา ลดอาการระคายเคือง ตาแดง ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง จักษุแพทย์อาจให้หยอดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบร่วมด้วย ในกรณีนี้ควรได้รับการวัดความดันตาอย่างสม่ำเสมอ

กลุ่มน้ำตาเทียม ใช้ในผู้ที่มีอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย เพียงแต่ผู้ใช้ควรต้องทราบก่อนว่าอาการตาแห้งมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หากเป็นเพียงเล็กน้อย สามารถหยอดน้ำตาเทียมที่มีลักษณะเป็นขวดได้ น้ำตาเทียมแบบขวดจะผสมสารกันบูดไว้ด้วยและจะมีอายุหนึ่งเดือนหลังเปิดใช้ ไม่ควรใช้เกินวันละ 4 ครั้ง เพราะจะทำให้ผิวกระจกตาหลุดร่อนได้

โดยทั่วไปเมื่อมีอาการผิดปกติทางตา แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง แต่ในกรณีไม่สะดวกที่จะไปตรวจได้ และจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาก็ควรหลีกเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบจักษุแพทย์พร้อมนำขวดยาที่ใช้ไปให้แพทย์ด้วย

หลังจากทราบถึงข้อบ่งชี้และข้อควรระวังของยาหยอดตาชนิดต่าง ๆ แล้ว ต่อไปควรทราบถึงข้อควรปฏิบัติและวิธีการหยอดยาอย่างถูกต้องกัน

1. เก็บรักษายาหยอดตา ยาแต่ละชนิดมีวิธีเก็บรักษาที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ บางชนิดต้องเก็บในตู้เย็น ที่สำคัญอย่าลืมยาทิ้งไว้ในรถที่ตากแดด เพราะความร้อนจะทำให้ยาเสื่อมสภาพ

2. ก่อนใช้อ่านฉลากวันหมดอายุ พร้อมเขียนวันเปิดใช้ไว้ที่ฉลากข้างขวด เมื่อเปิดใช้ครบหนึ่งเดือน หรือ ตัวยามีการเปลี่ยนสีให้ทิ้งทันที เนื่องจากอาจเริ่มมีการปนเปื้อนของเชื้อ

3. ล้างมือให้สะอาด ถ้ารอบ ๆ ดวงตามีขี้ตาหรือเครื่องสำอางให้ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำอุ่นเช็ดอย่างเบามือ ยาบางชนิดจำเป็นต้องเขย่าขวดก่อนหยอดเนื่องจากมีลักษณะเป็นยาน้ำแขวนตะกอน

4. หาที่นั่งที่มีพนักพิงหรือที่นอนที่สามารถแหงนหน้าขึ้นได้โดยไม่เสียการทรงตัว ใช้นิ้วดึงเปลือกตาล่างลงพร้อมกับหยอดยาลงในกระพุ้งตาล่าง 1-2 หยด ถ้าเป็นขี้ผึ้งป้ายตา บีบยายาวประมาณ 1 เซนติเมตร ให้ป้ายจากหัวตาไปหางตา โดยระวังไม่ให้ปลายหลอดยาสัมผัสกับตาหรือมือ เนื่องจากจะทำให้เชื้อสามารถเล็ดลอดเข้าไปปนเปื้อนยาหยอดตาได้

5. หลับตาไว้ 3 นาที ยาจะค่อย ๆ ถูกดูดซึมเข้าไป หากมียาหลายชนิดที่ต้องหยอดในเวลาเดียวกัน ควรรอให้ระยะเวลาหยอดตาห่างกันอย่างน้อย 10 นาที เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของยาทั้งสองชนิด เนื่องจากการหยอดยา 2 ชนิดในเวลาใกล้กันเกินไป ยาหยดที่ 2 จะไปทำให้ความเข้มข้นของยาหยดแรกลดลง จนอาจทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่

6. ยาบางชนิดหยอดแล้วอาจมีอาการขมคอ สามารถแก้ไขได้โดยการเอานิ้วกดบริเวณหัวตา การเอานิ้วกดตรงหัวตา นอกจากจะช่วยลดปริมาณยาไหลลงคอได้แล้วยังช่วยเพิ่มการออกฤทธิ์ที่ตาได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังลดอาการข้างเคียงต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้อีกด้วย

7. ยาหยอดส่วนที่เกินล้นออกมานอกตา ให้ใช้สำลีค่อย ๆ ซับออก อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะจะทำให้ผิวหนังรอบดวงตาเกิดการอักเสบได้.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility