แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

แพ้ยาพารา จะกินยาอะไรแก้ปวดดี – โรงพยาบาลราชวิถี

แพ้ยาพารา จะกินยาอะไรแก้ปวดดี

  • -

แพ้ยาพารา จะกินยาอะไรแก้ปวดดี

“ปวด” โรคหรืออาการอะไรก็ตามที่ขึ้นต้นด้วยคำนี้ ย่อมไม่เป็นเรื่องที่ฟังดูจรรโลงใจนัก ไม่ว่าจะปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดแขนขา เป็นต้น หากเป็นไปได้ก็คงไม่มีใครที่อยากจะรู้สึกถึงความปวด แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ทำอย่างไรถึงจะบรรเทาอาการปวดได้

แพ้ยาพารา จะกินยาอะไรแก้ปวดดี thaihealth

แฟ้มภาพ

หลายท่านคงกำลังนึกถึงยาเม็ดแก้ปวดที่รู้จักกันดีในนาม “พาราเซตามอล” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “อะเซตามิโนเฟน” ซึ่งอยู่ในหมวดยาสามัญประจำบ้านนั่นเอง สำหรับคนที่แพ้ยา หรือใช้ยาพาราเซตามอลไม่ได้ จะทำอย่างไร? จำเป็นต้องไปหาหมอทุกครั้งไหม? มียาอื่นใช้แทนได้ไหม?

ความปวด วัดได้หรือไม่? เครื่องมือประเมินระดับความปวดที่ใช้ในทางการแพทย์ มีอยู่หลายแบบ ดังรูปที่ 1 แต่ละแบบจะมีลักษณะแตกต่างกันไป ค่าความปวดที่วัดได้จะแสดงเป็นคะแนนความปวด ตั้งแต่ 0-10

แพ้ยาพารา จะกินยาอะไรแก้ปวดดี thaihealth

ที่มา: แนวทางพัฒนาการระงับปวดเฉียบพลัน 25521

คะแนนที่ได้จะนำมาใช้ในการเลือกยาแก้ปวดที่เหมาะสมต่อไปอาการปวดสามารถแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ คือ ปวดน้อย (1-3 คะแนน) ปวดปานกลาง (4-6 คะแนน) และปวดมาก (7-10 คะแนน) ดังรูปที่ 2

แพ้ยาพารา จะกินยาอะไรแก้ปวดดี thaihealth

จากรูปที่ 2 จะเห็นว่าในแต่ละขั้นจะมีการใช้ยาที่แตกต่างกัน โดยขึ้นกับความรุนแรง และยาพาราเซตามอลสามารถใช้ได้ในทุกกรณี แต่หากมีเหตุจำเป็นต้องเลี่ยงการใช้ยาพาราเซตามอล ยากลุ่มต่อไปที่แนะนำให้ใช้คือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs)

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDs มีหลายตัว ซึ่งแต่ละตัวจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป การเลือกใช้ยานั้น อาจปรับตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้ใช้ การจัดกลุ่มยา NSAIDs สามารถจัดได้หลายแบบ ในที่นี้จะแบ่งกลุ่มตามการยับยั้งเอนไซม์ที่มีส่วนทำให้เกิดการอักเสบ คือ ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase หรือ COX) ซึ่งจะมีอยู่ 2 ตัวหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ COX-1 และ COX-2 ดังแสดงในตารางต่อไปนี้

แพ้ยาพารา จะกินยาอะไรแก้ปวดดี thaihealth

* ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยา: ออกฤทธิ์สั้น (ต้องรับประทานวันละหลายครั้ง) และออกฤทธิ์ยาว (รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง)

ยาแก้ปวดชนิดออกฤทธิ์สั้น เหมาะสำหรับการรักษาอาการปวดแบบฉับพลัน ที่ใช้ระยะเวลาในการรักษาไม่นาน เมื่อหายปวดแล้วจึงหยุด ในขณะที่ยาแก้ปวดชนิดออกฤทธิ์ยาว เหมาะสมในการใช้บรรเทาอาการปวด เนื่องจากทำให้ไม่ต้องรับประทานยาบ่อย นอกจากนี้ การเลือกใช้ยายังขึ้นกับโรคประจำตัวบางโรคที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาก่อนการใช้ยาในกลุ่มนี้ด้วย

อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยในยากลุ่มนี้มักจะเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะยากลุ่ม traditional NSAIDs จึงควรรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือดื่มน้ำตามให้มากๆ และอาจมีการแนะนำให้ใช้ยาลดการหลั่งกรดร่วมด้วยในผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่ม NSAIDs จัดเป็นยาอันตรายที่ต้องจ่ายโดยเภสัชกร ดังนั้น ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อประเมินปัจจัยต่างๆ ในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสม และได้ประสิทธิภาพจากยามากที่สุด

ที่มา : งานเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย นศภ.ฉัตรภรณ์ ใจมา

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility