แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

‘ปวดหัว’ภัยสุขภาพใกล้ตัว – โรงพยาบาลราชวิถี

‘ปวดหัว’ภัยสุขภาพใกล้ตัว

  • -

‘ปวดหัว’ภัยสุขภาพใกล้ตัว

“ปวดหัว” อาการที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ และที่พบบ่อย สาเหตุของอาการปวดหัวส่วนใหญ่มักเกิดจาก ความเครียด!

\'ปวดหัว\'ภัยสุขภาพใกล้ตัว thaihealth

          แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เมื่อมีอาการปวดหัวควรสังเกตอาการ นิธิพันธ์ บุญเพิ่ม และ ธีรรัชศร แสงงาม อาจารย์ประจำสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ คำแนะนำการดูแลสุขภาพเมื่อต้องเผชิญกับอาการปวดหัว ภัยสุขภาพใกล้ตัวว่า ปวดหัว อาการดังกล่าวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากความผิดปกติของสมองที่มีผลต่อระบบประสาท และระบบหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณสมองเกิดการหดตัว เกิดการบีบรัด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหัว

          เช่นเดียวกับการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบ่าและต้นคอ อีกสาเหตุของอาการปวดหัว และนอกจากอาการปวดหัวที่ผู้ป่วยทราบสาเหตุ  อีกอาการ ปวดโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ก็ต้องหมั่นสังเกต และให้ความสำคัญ!

          ‘อาการปวดหัวที่เป็นอันตราย สังเกตได้จากอาการปวด และปวดมากขึ้น หรือปวดศีรษะมาก ๆ ปวดจนกระทั่งรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือปวดศีรษะแล้วมีอาการตาพร่ามัว อาเจียน ฯลฯ อาการเหล่านี้ ควรต้องพบแพทย์ ทั้งนี้การรักษาถูกวิธี เข้าถึงการรักษา จะส่งผลที่ดีต่อผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ”

อาการปวดหัวจากความเครียด ส่งผลให้เกิดการปวดเกร็งบ่าและโค้งคอ หรือไมเกรน ที่มักมีอาการปวดหัวร่วมด้วยนั้น โดยอาการเด่นของไมเกรน นอกจากปวดหัวข้างเดียว ปวดกระบอกตา หรืออาจปวดหัวทั้งสองข้าง ยังมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน ฯลฯ ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัย การรักษามีการผสานศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย อย่างกรณีปวดหัวโดยทราบสาเหตุ ปวดหัวจากความเครียด ปวดไมเกรน นอกจากรักษาด้วยยา ยังแนะนำการดูแลตนเอง  ลดคลายความเครียดกล้ามเนื้อคอ บ่าไหล่ โดยใช้วิธีการนวดแก้อาการปวดหัว

          การสังเกตอาการจึงมีความสำคัญ ผู้ป่วยควรทราบถึงสาเหตุ อาการปวดหัวของตนเองว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด อย่างเช่น ปวดหัวจากความเครียดจากการทำงาน ทั้งนี้การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ก้มคอหลายชั่วโมงติดต่อกันทำให้เกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อคอ บ่า ก็ควรต้องหยุดพัก หาวิธีผ่อนคลาย ซึ่งการบริหารร่างกาย ยืดเส้น หรือนวด เป็นอีกวิธีที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยท่าบริหารมีด้วยกันหลายท่า อาทิ หันศีรษะไปทางซ้าย-ขวา การหันศีรษะเอียงไปทางซ้ายและทางขวา ควรให้คอตึงและค้างไว้ในแต่ละด้าน หมุนคอ หมุนอย่างช้า ๆ โดยท่าบริหารดังกล่าวช่วยคลายกล้ามเนื้อและแก้อาการปวดหัวเบื้องต้นได้ ฯลฯ

          แต่อย่างไรแล้ว การหมุนคอ มีข้อจำกัดในผู้ป่วย โรคหมอนรองกระดูก, ความดันโลหิต ทั้งนี้ กรณีหมุนคอเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ อีกทั้งไม่เหมาะกับผู้ป่วย หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทั้งนี้ การหมุนที่ไม่ได้องศาอาจทำให้เกิดการเบียดทับ เกิดอาการปวดบวมอักเสบเพิ่มขึ้น ฯลฯ หรือ กรณีที่มี โรคประจำตัว การนวดต้องเพิ่มความระมัดระวัง

การประคบ ใช้กระเป๋าน้ำร้อนอังบริเวณคอ บ่าไหล่ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว ช่วยระบบไหลเวียนโลหิตและให้ความรู้สึกผ่อนคลายได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้มีข้อควรระวังสำหรับการประคบ คือต้องไม่ร้อนจน เกินไป เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนัง

          นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็มีส่วนสำคัญ ช่วยลดคลายความเครียด อาการปวดหัวได้  โดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถ พักสายตา หรือบริหารกล้ามเนื้อ ไม่ให้เกิดการเกร็งตัวเกินไปในขณะทำงาน ทั้งนี้หากกล้ามเนื้อหดเกร็งตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจส่งผลต่ออาการปวดศีรษะ และไมเกรนได้

          อาจารย์จากสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้มุมมองฝากถึงการทานอาหาร  การออกกำลังกายและการพักผ่อนที่เหมาะสม เพียงพอ ทั้งนี้พืชผักหลายชนิด เครื่องดื่มสมุนไพรและอาหารไทยหลายเมนูมีประโยชน์ ช่วยบำรุงเลือด บำรุงหัวใจ อย่างเช่น ชาดอกคำฝอย ชาฝางแดง ชาเตยหอม ฯลฯ ขณะที่ แกงขี้เหล็ก แกงเลียง ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ฯลฯ  ส่งเสริมการทำงานระบบโลหิตไหลเวียน ส่งผลดีต่ออาการปวดหัว หลีกไกลจากความเครียด ทั้งนี้ความเครียดเป็นศัตรูต่อสุขภาพ

          การรักษาสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility