แสดงความยินยอมการใช้คุกกี้

เว็บไซต์ของเรามีการใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้นต่อผู้ใช้ ก่อนใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป คุณตกลงและยอมรับเว็บไซต์ของเรา นโยบายการใช้คุกกี้

หัวใจเต้นพลิ้ว ใจสั่น ไม่ใช่เรื่องปกติ – โรงพยาบาลราชวิถี

หัวใจเต้นพลิ้ว ใจสั่น ไม่ใช่เรื่องปกติ

  • -

หัวใจเต้นพลิ้ว ใจสั่น ไม่ใช่เรื่องปกติ

“โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่การรับรู้เกี่ยวกับโรคนี้ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตเรียกได้ว่ายังไม่แพร่หลายนัก อาจเพราะอาการของความผิดปกติที่ไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจนเหมือนกับโรคหัวใจชนิดอื่นๆ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่คิดว่านั่นคือความผิดปกติที่เกิดขึ้น

cardiac-arrhythmia-01

ผู้ป่วยมักจะมีอาการใจสั่นเพราะหัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย แต่อาการจะไม่แสดงเป็นครั้งคราว จึงทำให้ไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งสามารถตรวจได้ง่ายๆ เพียงแค่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็จะพบอัตราการเต้นที่ผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายประเภทแต่ประเภทที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ การเต้นผิดปกติของหัวใจห้องบน

“เอเอฟเป็นอาการหัวใจเต้นผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดและน่ากลัวที่สุด เป็นความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจห้องบนที่รุนแรงที่สุด เรียกกันทั่วไปว่า เอเอฟ (AF : Atrial Fibrillation) หรือหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจมีอัตราการเต้นของหัวใจถึง 400 ครั้งต่อนาที” รศ.นพ.บัญชา ศันสนีย์วิทยกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลรามคำแหงกล่าว

อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติเฉพาะห้องบนนั้นทำให้การสูบฉีดเลือดผิดจังหวะจนก่อให้เกิดลิ่มเลือดขณะที่หัวใจกำลังสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย และเมื่อเกิดกับหัวใจห้องบนซึ่งจะส่งกระแสเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองโดยตรง จึงมีผลทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต เนื่องจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นจากหัวใจที่บีบตัวผิดปกติอาจจะหลุดออกไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ขณะที่จะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า

สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในห้องบนนั้น ส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพราะความเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ แต่สำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่านั้นมาจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่บางรายอาจเป็นมาแต่กำเนิดคือมีสิ่งกีดขวางเกิดขึ้นภายในจนทำให้คลื่นไฟฟ้าไม่สามารถเดินทางได้เป็นปกติ

“ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นเอเอฟใหม่ๆ จะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ เป็นเองหายเองในช่วงสั้น ๆ เมื่อทิ้งไว้ไม่รักษาก็จะเป็นบ่อยขึ้นและนานขึ้น การรักษาเอเอฟนั้นมี 3 แนวทาง คือ ยอมที่จะอยู่กับเอเอฟโดยรับประทานยาป้องกันโรคแทรกซ้อนอย่างยาละลายลิ่มเลือดและควบคุมการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป การใช้ยากดไม่ให้มีการปล่อยไฟฟ้าออกมาโดยวิธีการนี้ได้ผลแค่ 60-70% และยังมีผลข้างเคียงต่ออวัยวะภายในอย่างตับอักเสบหรือสายตาอาจมีปัญหา วิธีการสุดท้ายคือการกำจัดให้หมดไปด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มเป็นจะมีอัตราการหายขาดสูง แต่หากผู้ป่วยมีอาการใจสั่นหัวใจเต้นเร็วผิดปกติต่อเนื่องกัน 7 วันขึ้นไป อัตราการรักษาให้หายขาดก็จะน้อยลง และหากมีอาการหัวใจเต้นพลิ้วนานเกิน 1 ปี อัตราการรักษาให้หายขาดก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก ดังนั้นการรักษาเอเอฟให้หายขาดควรทำตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของโรค”

การรักษาด้วยการจี้คลื่นวิทยุ (Radioofrequency Catheter Ablation) เป็นที่นิยมกันมากเพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่แม้จะได้ผลดีก็ยังมีข้อจำกัดเพราะการจี้หัวใจโดยใช้สายจี้หัวใจที่หัวจี้ทำจากโลหะแพลตตินัมนั้น หากแรงกดของหัวจี้ที่มีต่อผนังหัวใจมีขนาดที่เหมาะสมและปล่อยกระแสไฟฟ้าในอัตราที่พอเหมาะจะทำให้การจี้ได้ผลดี แต่หากแรงกดน้อยเกินไปพลังงานที่ส่งไปที่หัวใจจะต่ำทำให้การจี้ไม่ได้ผลดี ขณะเดียวกันหากแรงกดมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการทะลุของหัวใจได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเอเอฟที่มีความผิดปกติมากจนทำให้ต้องจี้ถึง 50-100 จุด หรือในบางรายที่มีความผิดปกติมากอาจมีถึง 200 จุด

“หากผู้ป่วยเอเอฟมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน ความผิดปกติก็จะมีมากขึ้น เมื่อความผิดปกติมีมากก็ต้องจี้มากโอกาสที่จะสำเร็จก็จะน้อยลง และโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนก็มากขึ้น โดยโรคแทรก ซ้อนสำคัญคือ เกิดการทะลุของผนังหัวใจ ทำให้มีเลือดออกจากห้องหัวใจมาขังอยู่ในถุงหุ้มหัวใจ เลือดที่อยู่ในถุงหุ้มหัวใจจะกดหัวใจทำให้ไม่สามารถคลายตัวได้ตามปกติ ทำให้ความดันโลหิตต่ำลงอย่างมาก แพทย์จะใช้เข็มเจาะถุงหุ้มหัวใจเพื่อระบายเลือดออก หลังจากดูดเลือดออกแล้วรูที่ผนังหัวใจมักจะปิดได้เอง แต่ในบางรายจำเป็นต้องผ่าตัดปิดรูรั่วนั้น แต่โดยทั่วไปการจี้เอเอฟมีโอกาสเกิดผนังหัวใจทะลุประมาณ 1-2%”

แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยแต่ก็ยังถือเป็นความเสี่ยงที่คนไข้อาจต้องเผชิญ แต่ความกังวลนี้กำลังจะหมดไปเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่รับการพัฒนาขึ้นมาล่าสุด โดยมีสายจี้หัวใจแบบใหม่ที่มีตัวเซ็นเซอร์คอยบอกแรงกดและทิศทางของแรงกดของสายจี้ที่มีต่อผนังหัวใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้แพทย์สามารถบอกได้ว่าขณะนี้สายจี้สัมผัสอยู่กับผนังหัวใจคนไข้หรือไม่ แพทย์สามารถปรับเพิ่มแรงกดและปรับทิศทางการกดได้ ทำให้สายจี้สัมผัสผนังหัวใจได้ดีขึ้น และการจี้ก็ได้ผลดีขึ้นด้วย ทั้งยังลดปัญหาการเกิดผนังหัวใจทะลุได้

ผลการศึกษาวิจัยที่มีชื่อว่า SMART-AF ซึ่งตีพิมพ์ผลการทดลองใช้สายจี้ชนิดนี้ในผู้ป่วยเอเอฟในวารสารการแพทย์โรคหัวใจเดือนสิงหาคม พบว่า การที่แพทย์สามารถติดตามตรวจวัดแรงกดของสายจี้กับผนังหัวใจได้ตลอดเวลา สามารถเพิ่มความสำเร็จของการจี้เอเอฟได้มากขึ้น และยิ่งมีตัวช่วยอย่างเครื่องคาร์โตที่สามารถแสดงภาพหัวใจที่ระบุได้ถึงจุดที่มีความผิดปกติที่เกิดขึ้น แพทย์ก็จะสามารถให้การรักษาได้แม่นยำขึ้นด้วย

 

Please follow and like us:

ข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด

Accessibility